สธ.เข้มมาตรการสนับสนุนเลิกบุหรี่ เพิ่มภาพเท้าเน่า-แนะวิธีอดบนซอง

ข่าวทั่วไป Wednesday May 27, 2009 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเพิ่ม 3 มาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบในปลายปีนี้ โดยเพิ่มภาพเตือนพิษภัยจากบุหรี่ชุดใหม่และพิมพ์เบอร์โทรศัพท์สายด่วน 1600 แนะวิธีเลิกบุหรี่ที่ข้างซองบุหรี่ทุกซอง พร้อมทั้งเตรียมขึ้นภาษียาเส้น ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งเปิดคลินิกอดบุหรี่ และให้สิทธิการรักษาการเลิกบุหรี่ในชุดสิทธิประโยชน์การรักษาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

"จะลงนามออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 19 เพิ่มการพิมพ์รูปภาพ พร้อมคำเตือนภัยบุหรี่ชุดใหม่จากเดิมที่ใช้ในปี 2549 มี 9 ภาพ เป็น 10 ภาพ เพิ่มภาพเท้าเน่า เป็นภาพสี่สีขนาดใหญ่ขึ้นเห็นชัดกว่าเดิม...คาดจะใช้ทันในปลายปีนี้" นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าว

มาตรการแรกเป็นการออกกฎหมายบังคับ โดยจะลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 19 เพิ่มการพิมพ์รูปภาพขนาดใหญ่ขึ้นเห็นชัดกว่าเดิม หรือมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 55% ของซองด้านที่มีพื้นที่มากที่สุด ให้พิมพ์ในอัตรา 1 แบบต่อบุหรี่ 5,000 ซอง หรือบนภาชนะบรรจุซิกาแรตทั้งสองด้านในอัตรา 1 แบบต่อ 500 กล่อง และให้พิมพ์ "โทรเลิกบุหรี่ 1600" ด้วย จะมีผลใช้ในอีก 180 วันหลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมีประเทศที่พิมพ์ภาพเตือนภัยบนซองบุหรี่กว่า 12 ประเทศ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ 4

ส่วนการบังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ที่มีจำนวนกว่า 52 ล้านคน โดยเฉพาะพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100% จากการติดตามประเมินผลยังมีปัญหาในเรื่องไม่ติดป้ายสัญลักษณ์การห้ามสูบบุหรี่ และยังมีการสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ในระหว่างยกร่างกฎหมายเพื่อทำพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100% แท้จริงให้ได้ภายในปี 2553 โดยจะให้ครอบคลุมสถานที่ทำงาน โรงพยาบาล วัดทุกแห่ง โดยองค์การอนามัยโลกได้มอบทุนสนับสนุนดำเนินการประมาณ 20 ล้านบาท

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ใช้ทุกมาตรการเพื่อควบคุมปัญหาการบริโภคยาสูบในประเทศไทย ทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ รณรงค์เลิกสูบบุหรี่ และออกกฎหมายบังคับใช้แล้ว 18 ฉบับ ซึ่งพบว่าได้ผลดีขึ้นเป็นลำดับ

นอกจากนี้ยังมีมาตรการเพิ่มเติม ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติหมายเลข 1600 เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สปสช. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ได้ทดลองใช้ 18 คู่สาย ตั้งแต่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 2,000 รายต่อเดือน

ในส่วนของผู้ที่สูบบุหรี่แล้วต้องการเลิกสูบอย่างเด็ดขาดกว่า 10 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ เปิดคลินิกอดบุหรี่ให้บริการ และมีนโยบายบรรจุการรักษาการเลิกบุหรี่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานศึกษารายละเอียดและกำหนดหลักเกณฑ์ คาดว่าจะประกาศได้ภายในปีนี้ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และลดจำนวนผู้สูบให้น้อยลงไปเรื่อยๆ

ทั้งนี้ในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ประจำโดยเฉพาะเพศชายให้ได้ 1% ต่อปี ส่วนเพศหญิงจะควบคุมไม่ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะนี้แนวโน้มอัตราการสูบบุหรี่เป็นประจำของคนไทยลดลง แต่เป็นการลดลงในกลุ่มที่สูบบุหรี่ชนิดซอง แต่ในกลุ่มผู้สูบยาเส้นมีแนวโน้มมากขึ้น ผลสำรวจล่าสุดพบว่า คนไทยสูบบุหรี่ชนิดซอง 5.1 ล้านคน ส่วนยาเส้นมีคนสูบ 5.7 ล้านคน

"ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่ายาเส้นมีอันตรายน้อย ทำให้ไม่เลิกสูบ รวมทั้งราคาถูกซองละประมาณ 5 บาท สูบได้นาน 2-3 วัน หาซื้อง่ายมีขายในร้านชำตามหมู่บ้าน กระทรวงสาธารณสุขเตรียมนำเรื่องการเก็บภาษีบุหรี่ยาเส้นเข้าหารือคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ เพราะปัจจุบันเก็บภาษีต่ำมากไม่ถึง 0.01% ขณะที่บุหรี่ชนิดซองเก็บ 85%" นายวิทยา กล่าว

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงานว่า ขณะนี้มีคนทั่วโลกเสียชีวิตจากบุหรี่ซึ่งมีกว่า 25 โรค ปีละประมาณ 3.5 ล้านราย หรือตาย 1 รายในทุกๆ 9 นาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนในประเทศไทยบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการตายอันดับ 2 รองจากโรคเอดส์ ปีละกว่า 40,000 คน โดยเฉพาะมะเร็งปอดมีผู้ป่วยใหม่ปีละเกือบ 20,000 คน ที่น่าห่วงพบว่าผู้หญิงในภาคอีสานมีแนวโน้มเริ่มต้นสูบบุหรี่เมื่ออายุน้อยลง ขณะที่ภาคอื่นๆ เริ่มต้นสูบเมื่ออายุมากขึ้น โดยผู้ชายอายุเริ่มสูบเฉลี่ยประมาณ 18 ปี ส่วนผู้หญิงอายุเฉลี่ยประมาณ 22 ปี และที่น่าวิตกไปกว่านั้นคือพบการสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์สูงขึ้น ในครอบครัวที่ยากจนและการศึกษาต่ำ ทำให้ทารกมีโอกาสได้รับควันบุหรี่ค่อนข้างสูง โดยมีมารดากว่า 50% ยังสูบบุหรี่ขณะให้นมบุตร ส่วนอัตราการเลิกบุหรี่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 9.95% ในปี 2534 เป็น 18.29% ในปี 2550 แต่ก็มีผู้สูบบุหรี่อีกประมาณ 6 ล้านคนไม่เคยคิดเลิกบุหรี่และไม่พยายามเลิกบุหรี่ ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอายุ 15-18 ปี กลุ่มที่ไม่เรียนหนังสือ และกลุ่มที่ครอบครัวยากจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ