กรุงเทพโพลล์เผย ดัชนีความเชื่อมั่นประเทศไทย พ.ค.52 ปรับลดลงจากเม.ย.

ข่าวทั่วไป Thursday May 28, 2009 12:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรุงเทพโพลล์ เผยดัชนีความเชื่อมั่นประเทศไทย พ.ค.52 มีคะแนนความเชื่อมั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 4.07 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งลดลง 0.02 จาก 4.09 คะแนนในเดือน เม.ย. หรือลดลง 0.2%

เมื่อพิจารณาคะแนนความเชื่อมั่นในแต่ละด้านเดือน พ.ค.พบว่า ความเชื่อมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีและความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อของคนไทยยังคงมีคะแนนสูงที่สุด โดยอยู่ที่ 5.73 คะแนน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.05 คะแนน และเป็นความเชื่อมั่นเพียงด้านเดียวจากทั้งหมด 12 ด้านที่มีคะแนนสูงกว่าครึ่ง แต่ความเชื่อมั่นในการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ของประเทศ ที่มีคะแนน 4.34 คะแนนนั้น ถือว่าเพิ่มขึ้นสูงสุดจากเดือนเม.ย.ถึง 0.24 คะแนน

ส่วนความเชื่อมั่นด้านอื่นๆ เช่น ความเชื่อมั่นต่อศักยภาพคนไทย อยู่ที่ 4.71คะแนน เพิ่มขึ้น 0.06 คะแนน ความเชื่อมั่นในความสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน อยู่ที่ 4.52 เพิ่มขึ้น 0.12 คะแนน ความเชื่อมั่นในความรักความสามัคคีของคนในชาติ อยู่ที่ 3.55 คะแนน เพิ่มขึ้น 0.08 คะแนน ความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาความยากจน การว่างงาน และการประกอบอาชีพ อยู่ที่ 3.44 คะแนน เพิ่มขึ้น 0.12 คะแนน

ความเชื่อมั่นในเสรีภาพของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงไปยังประชาชน อยู่ที่ 4.28 ลดลง 0.07 คะแนน ความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน อยู่ที่ 4.23 คะแนน ลดลง 0.20 คะแนน ความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาไทย อยู่ที่ 3.55 คะแนน ลดลง 0.24 คะแนน ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายของไทย อยู่ที่ 3.53 คะแนน ลดลง 0.11 คะแนน ความเชื่อมั่นในความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน อยู่ที่ 3.53 คะแนน ลดลง 0.16 คะแนน และความเชื่อมั่นในสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ อยู่ที่ 3.36 คะแนน ลดลง 0.16 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนต่ำสุดในการสำรวจรอบนี้

"ความเชื่อมั่นที่มีคะแนนลดลงมากที่สุดคือ ความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาไทย รองลงมาคือความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และความเชื่อมั่นในความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ตามลำดับ" กรุงเทพโพลล์ระบุ

ส่วนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อประเทศไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าด้านเศรษฐกิจจะดีขึ้น 35.7% ซึ่งใกล้เคียงกับความเห็นที่คาดว่าจะเหมือนเดิม ส่วนด้านการเมือง ส่วนใหญ่มองว่าเหมือนเดิม อยู่ที่ 44.7% และด้านสังคมยังคงเชื่อว่าเหมือนเดิมที่ 42%

ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทย ได้แก่ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ การว่างงาน และการลงทุน รองลงมาคือ แก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคมให้มีความรักสามัคคีกัน และแก้ปัญหาความขัดแย้งในหมู่นักการเมืองให้มีความสมานฉันท์ช่วยกันแก้ปัญหาของประเทศ

ผลสำรวจดังกล่าว เก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกสาขาอาชีพ ที่อาศัยอยู่ในเขต กรุงเทพฯ รวม 1,328 คน เมื่อวันที่ 25-27 พ.ค.52


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ