(เพิ่มเติม) ศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติวินิจฉัยการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนลบ.ไม่ขัด รธน.

ข่าวทั่วไป Wednesday June 3, 2009 12:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 9:0 วินิจฉัยให้การออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 จำนวน 4 แสนล้านบาท เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 และถือว่ามีความจำเป็นอันเร่งด่วนที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้

ในคำแถลงการวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เมื่อพิจารณาถึงเหตุที่เป็นกรณีความฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ประกอบกับสาระสำคัญและกรอบการดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ยังไม่มีมูลกรณีให้เห็นว่าคณะรัฐมนตรีได้ตรา พ.ร.ก.นี้ขึ้นมาโดยไม่สุจริตหรือใช้ดุลยพินิจบิดเบือนหลักการของรัฐธรรมนูญ

"ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ จึงวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 1 และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 2" เอกสารคำแถลงการวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ระบุ

ก่อนหน้านี้ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการออก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ซึ่งนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่าการที่คณะรัฐมนตรีตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ ทำเพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้ตกต่ำไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ภาครัฐช่วยสร้างกำลังซื้ออย่างเร่งด่วนในระบบในช่วงที่กำลังซื้อจากต่างประเทศและในประเทศหดตัวลงจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกที่จำเป็นต้องรีบดำเนินการมาตรการแก้ไขปัญหาก่อนจะลุกลามไปในทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นหน้าที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจของรัฐในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 1

นอกจากนั้น สภาพปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังประสบอยู่ อาจส่งผลกระทบให้เกิดภัยวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศจนรัฐบาลต้องเร่งดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขวิกฤติเหล่านั้น ทั้งมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน มาตรการเพิ่มงบประมาณกลางปี แต่สภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีความฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ