(เพิ่มเติม) กรรมการ 4 ฝ่ายฯ คาดเคลียร์ปัญหา 76 โครงการที่ถูกชะลอภายใน 4-5 สัปดาห์

ข่าวทั่วไป Thursday November 19, 2009 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษมาบตาพุด) กล่าวภายหลังการประชุมนัดแรกว่า ที่ประชุมฯ ได้หารือถึงกรอบการทำงาน โดยจะมีการประชุมทุกวันจันทร์ วันพุธ และวันพฤหัสบดี โดยมุ่งแสวงหาข้อเท็จจริงและความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายเท่านั้น ไม่ไปตัดสินว่าใครถูกใครผิด

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ คาดว่าจะใช้เวลาในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดทั้งหมดภายใน 4-5 เดือน เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานการลงทุนในระยะยาวให้กับประเทศ ส่วนระยะเร่งด่วนจะใช้เวลาราว 4-5 สัปดาห์ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาสำหรับโครงการที่ถูกคำสั่งศาลปกครองกลางให้ชะลอไว้

นายอานันท์ กล่าวว่า กรอบการทำงานของคณะกรรมการฯ จะยึดตามแนวทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากการปฏิบัติที่หละหลวมบกพร่อง ทั้งภาคประชาชนและภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการติดตาม การบังคับใช้กฎหมายและกติกาที่มีการเปลี่ยนแปลง

"คณะกรรมการฯ จะทำหน้าที่ประสานข้อคิดเห็น หาจุดรวมที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ หาข้อเท็จจริง ข้อเสนอแนะ และสะสางปัญหา เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ เพราะปัญหานี้ไม่ใช่แก้ด้วยวิธีการขึ้นโรงขึ้นศาล หรือตั้งอนุญาโตตุลาการ แต่อยู่ที่การทำให้ภาคอุตสาหกรรมกับสังคมอยู่ด้วยกันด้วยความเรียบร้อย เคารพสิทธิ และแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน"นายอานันท์ กล่าว

นายอานันท์ กล่าวว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้สามารถทำงานร่วมกันได้ และเมื่อรัฐบาลตั้งคณะกรรมการชุดนี้พร้อมมอบภารกิจที่มีขอบเขตกว้างขวาง ขณะที่หลายอย่างที่รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการหรือวางแผนจะดำเนินการในอนาคตนั้น หากอยู่ในช่วงระยะเวลาทำงาน 4-5 เดือนที่คณะกรรมการชุดนี้ทำงานอยู่และไม่เป็นแนวทางเดียวกัน คณะกรรมการฯ ก็จะเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การประกาศประเภทกิจกรรมหรือโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน 8 ประเภท หากคณะกรรมการฯ เห็นว่าควรมีมากกว่านี้ รัฐบาลต้องแก้ไขให้สอดคล้องกันด้วย

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีคนในพื้นที่ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ นั้น นายอานันท์ กล่าวว่า นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกก็ถือเป็นตัวแทนภาคประชาชน เพราะผู้มีส่วนผลักดันในการแก้ปัญหามาบตาพุดมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะเดินทางพื้นที่เพื่อให้รู้ปัญหาที่แท้จริงในวันที่ 5 ธ.ค.นี้ และวันที่ 6 ธ.ค.จะมีการประชุมคณะกรรมการฯ ทันทีในช่วงเย็นที่มาบตาพุด



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ