In Focusภัยพิบัติปะทะโรคระบาด...สุดยอดเพชฌฆาตแห่งปีวัววิปโยค

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 2, 2009 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วัวบ้า วัวคลั่ง วัวดุ หรือกระทิงเดือด คือชื่อที่บรรดาโหรแต่ละสำนักบอกกล่าวกันไว้ เพื่อใช้เรียกสถานการณ์ความเป็นไปในปีพุทธศักราช 2552 ซึ่งกำลังจะผ่านพ้นไปในอีก 29 วันข้างหน้านี้ หลังจากที่ทั่วโลกต้องเหน็ดเหนื่อยกับการฟันฝ่ามรสุมหลายลูก ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง ไม่เว้นแม้แต่เรื่อง "ภัยพิบัติ" หรือ "โรคระบาด" ที่เปรียบเสมือนเพชฌฆาต ผู้คอยปลิดชีวิตมนุษย์ไปมากต่อมากในปีนี้

พายุไต้ฝุ่นมรกต

6 สิงหาคม 2552: เริ่มต้นกันที่มหันตภัยครั้งร้ายแรงในรอบ 50 ปีของไต้หวัน เมื่อ "พายุไต้ฝุ่นมรกต" แผลงอิทธิฤทธิ์ด้วยความเร็วลม 137 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เข้าถาโถมถล่มดินแดนแห่งนี้ พร้อมพรากชีวิตผู้คนนับร้อยรายและมีการประเมินมูลค่าความเสียหายทางการเกษตรอย่างน้อย 281 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ความเสียหายด้านการท่องเที่ยวอยู่ที่ 570 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความเกรี้ยวกราดของพายุทำให้ไต้หวันต้องสั่งปิดตลาดเงินในวันที่ 7 สิงหาคม และยกเลิกเที่ยวบินในไต้หวันรวมถึงบางเที่ยวบินที่มีจีน ฮ่องกง และมาเก๊าเป็นจุดหมายปลายทาง นอกจากนี้ ยังทางการยังสั่งปิดเส้นทางรถไฟทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนและสำนักงานต่างๆที่ปิดทำการด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ไต้หวันประสบภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ ธารน้ำใจต่างหลั่งไหลมายังดินแดนแห่งนี้ ทั้งองค์กรการกุศลและองค์กรภาคธุรกิจที่ร่วมกันบริจาคเงินกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออดีตประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยน ที่บริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน ขณะที่หลิวเต๋อหัว พระเอกชื่อดังทั้งในและนอกจอได้นำทัพดารานักร้องของไต้หวันระดมเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยจนได้ยอดรวมกว่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ในจำนวนนี้มีเงินของเจ็ตลี และเฉินหลงรวมอยู่ด้วย

พายุโซนร้อนกิสนา

27 กันยายน 2552: "พายุโซนร้อนกิสนา" ซึ่งว่ากันว่าเป็นชื่อพายุที่ตั้งตามดอกไม้มงคล มีกลิ่นหอม และราคาแพง แต่สำหรับชาวฟิลิปปินส์แล้ว ชื่อนี้คงไม่เป็นมงคลเช่นนั้น มิหนำซ้ำยังสร้างบทเรียนราคาแพงให้กับชาวตากาล็อกอย่างไม่มีวันลืม เพราะพายุครั้งนี้ได้นำเอาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 40 ปีมาสู่กรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ที่มีประชากรกว่า 12 ล้านคน และอิทธิพลจากพายุยังส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึง 410.6 มิลลิเมตรในเวลาเพียง 9 ชั่วโมง ซ้ำร้ายในบางจุดยังมีน้ำท่วมสูงถึง 6 เมตร ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวมากพอๆกับปริมาณน้ำฝนที่ตกเกือบทั้งเดือนในปี 2510

นอกจากนี้ พายุโซนร้อนกิสนาที่เข้าเล่นงานฟิลิปปินส์ยังสร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนอย่างไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหม ไม่สนว่าจะเป็นหญิง-ชาย-เด็ก-ผู้ใหญ่ หรือวัยชรา ไม่เว้นแม้แต่ดาราหรือชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นางเอกสาวคริสทีน เรเยส ที่เผชิญนาทีชีวิตเหมือนกับชาวมะนิลาคนอื่นๆ โดยเธอได้หนีน้ำท่วมขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้านขนาด 2 ชั้น ในย่านมาริกินา ซิตี้ และโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือไปยังสถานีโทรทัศน์ จนกระทั่งริชาร์ด กูเตียร์เรซ นักแสดงชายชื่อดังสวมบทฮีโร่นอกจอขับเรือเร็วเพื่อเข้าไปช่วยเธอราวกับฉากในภาพยนตร์

อย่างไรก็ตาม หลังจากพายุโซนร้อนกิสนาสงบลงได้ไม่นาน ฟิลิปปินส์ยังคงต้องเผชิญกับ "พายุโซนร้อนป้าหม่า" ที่เคลื่อนตัวด้วยความเร็วลมสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเข้าเล่นงานอีกระลอกก่อนจะตามติดกระชั้นชิดมาด้วย "พายุไต้ฝุ่นลูปิต" ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งทำให้เกิดฝนตกหนักทางเหนือของเกาะลูซอน

แผ่นดินไหวในอเมริกันซามัว

30 กันยายน 2552: ถึงคิวของชาวซามัวที่ต้องเผชิญกับความวิปโยคจากเหตุแผ่นดินไหวซึ่งวัดความรุนแรงได้ 8.0 ริกเตอร์บริเวณนอกชายฝั่งหมู่เกาะซามัว จนส่งผลให้มีการประกาศเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิหลายประเทศในมหาสมุทรแปซิก โดยจุดที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้ อยู่ห่างจากกรุงเอเพีย บนเกาะซามัว ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 190 กิโลเมตร และลึกลงไปใต้ทะเลประมาณ 18 กิโลเมตร อีกทั้งยังทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสัดสาดรุนแรงต่อเนื่องถึง 5 ครั้ง ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐออกประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตประสบภัยพิบัติรุนแรง

พาเมล่า สเต็พเฟอร์สัน ดาราสาวชื่อดังที่พักอาศัยบนเกาะซามัวได้บอกเล่าถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยนว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เหมือนเป็นนรกที่น่าหวาดกลัว และหายนะหลังเกิดแผ่นดินไหวก็เหมือนกับความฝันที่น่าสยดสยองเลยทีเดียว

นอกจากเหตุแผ่นดินไหวจะสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับผู้คนแล้ว กลุ่มมิจฉาชีพบนเกาะอเมริกันซามัวยังซ้ำเติมชะตากรรมของผู้คนด้วยการอาศัยช่วงชุลมุนออกปล้นสะดมภ์บ้านเรือนและร้านค้าในเมืองปาโกปาโก เมืองเอกของเกาะอเมริกันซามัวที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมัวแต่สาละวนกับการค้นหาร่างผู้เสียชีวิตจากมหันตภัยสึนามิ จนไม่สามารถดูแลความปลอดภัยของประชาชนได้อย่างทั่วถึง

พายุโซนร้อนมิริแน

2 พฤศจิกายน 2552: หลังจากที่หนีน้ำท่วมในฟิลิปปินส์มาแล้ว เรามาลุยน้ำที่เวียดนามกันบ้าง เมื่อประเทศเพื่อนบ้านของไทยแห่งนี้โดนหางเลขจาก "พายุโซนร้อนมิริแน" ซึ่งอ่อนกำลังลงจากไต้ฝุ่นเป็นพายุโซนร้อนก่อนจะพัดเข้าฝั่งเวียดนามจนทำให้มีผู้สังเวยชีวิตอย่างน้อยกว่าร้อยศพ

คณะกรรมาธิการภัยพิบัติแห่งชาติของเวียดนามระบุในแถลงการณ์ว่า เหตุพายุโซนร้อนครั้งนี้ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 30 ปีที่จังหวัดฝูเอียนและทำให้พื้นที่เพาะปลูกในเขตภาคกลางของประเทศราว 1.2 หมื่นเอเคอร์ต้องจมอยู่ใต้บาดาล ส่วนคณะกรรมการควบคุมพายุและอุทกภัยแห่งชาติเวียดนามรายงานว่า พายุลูกนี้ได้สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามากกว่า 5 พันล้านดอง หรือประมาณ 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพข่าวจากสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นเวียดนามได้รายงานสภาพความเสียหายอย่างหนักที่เกิดขึ้นในจังหวัดฝูเอียน ท่ามกลางการเร่งเข้าช่วยเหลือประชาชนของหน่วยกู้ภัย ขณะที่รายงานยังระบุด้วยว่า ทางการเวียดนามได้ทยอยให้ความช่วยเหลือประชาชนอีกมากกว่า 2 แสนคนที่จังหวัดบินดิ่ง ซึ่งเผชิญกับวิกฤตอุทุกภัยครั้งร้ายแรงด้วยเช่นกัน

พายุเฮอริเคนไอด้า

9 พฤศจิกายน 2552: แม้ว่า "พายุเฮอริเคนไอด้า" จะมาล่าช้าในช่วงฤดูเฮอริเคนประจำปีนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ฤทธิ์เดชของพายุลูกดังกล่าวจะลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด เพราะอิทธิพลของไอด้าทำให้เกิดน้ำท่วมและแผ่นดินถล่มในอเมริกากลาง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยกว่าร้อยรายในเอลซัลวาดอร์ ขณะที่อีกราว 13,000 คนในในนิคารากัวต้องไร้ที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ นอกเหนือจากประชาชนทั่วไปจะเดือดร้อนจากพายุดังกล่าวแล้ว ภาคธุรกิจต่างๆโดยเฉพาะบริษัทน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกต่างพากันอพยพพนักงานและระงับการผลิตบางส่วน ด้วยเกรงว่าพายุที่ทวีความรุนแรงขึ้นนี้จะสร้างความเสียหายต่อแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถผลิตน้ำมันดิบได้กว่า 1 ใน 4 ของปริมาณการผลิตโดยรวมในสหรัฐ

โรคชิคุนกุนยา

20 มีนาคม: เริ่มต้นนำร่องการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่จำกัดวงอยู่ในประเทศไทยเราอย่างโรค "ชิคุนกุนยา" ซึ่งดูเหมือนว่าภาวะโลกร้อนจะยิ่งเร่งให้ยุงโตเร็วขึ้น วางไข่ออกลูกได้หลายรอบมากขึ้น และโรคที่มียุงเป็นพาหะก็ระบาดมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

โดยโรคดังกล่าวได้สร้างความสะพรึงกลัวให้กับชาวไทย โดยเฉพาะพี่น้องชายแดนใต้ที่เผชิญการระบาดอย่างหนักกว่าหมื่นคน ที่สำคัญโรคนี้ยังรุนแรงถึงขนาดที่มีคำร่ำลือแบบปากต่อปากว่า นี่คือโรคประหลาดที่เกิดจากปฏิบัติการสงครามเชื้อโรค ทั้งๆที่แท้จริงแล้ว ชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลายนั้นเกิดจากเชื้อไวรัส และเป็นโรคอุบัติซ้ำที่มีการตรวจพบเชื้อครั้งแรกเมื่อปี 2498 ในทวีปแอฟริกา ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีการตรวจพบว่า มีการแพร่ระบาดครั้งแรกที่กรุงเทพฯเมื่อปี 2501

นอกจากนี้ คำว่า ชิคุนกุนยา นั้นก็มิได้มาจากภาษาญี่ปุ่นแต่อย่างใด หากแต่เป็นภาษาท้องถิ่นของแอฟริกาที่แปลตรงตัวว่า "ตัวงอ" ซึ่งหากจะแปลให้ได้ใจความสมบูรณ์ก็คือ โรคที่ทำให้เจ็บกระดูกจนตัวงอ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามข้อต่างๆของร่างกาย โดยที่อาการปวดข้อนั้นจะย้ายจุดอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขเตือนว่า แม้โรคดังกล่าวจะไม่ได้ร้ายแรงเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ แต่เชื้อไวรัสนี้อาจกลายพันธุ์เป็นเชื้อที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต

โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

24 เมษายน 2552: มาถึงโรคอุบัติใหม่ "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009" ที่ทำเอาร้านขายผ้าปิดปากและเจลทำความสะอาดมือขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) กลับต้องก้มหน้าแก้ปัญหาเชื้อไวรัส H5N1 ที่พ่นพิษไปประเทศและดินแดนต่างๆกว่า 200 แห่ง จากจุดเริ่มต้นที่เม็กซิโก อีกทั้งยังกลายเป็นไข้หวัดที่มีการระบาดมากที่สุดในโลก นำหน้าไวรัสไข้หวัดชนิดอื่นๆ จนทำให้ WHO ประกาศให้โรคดังกล่าวเป็นโรคระบาดครั้งแรกในรอบ 40 ปี

โดย WHO ระบุว่า ณ เวลานี้ อเมริกาเหนือ คือทวีปที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด แต่ทวีปที่ได้ผลกระทบรุนแรงที่สุดกลับอยู่ที่ยุโรปและเอเชียตะวันออก ด้วยจำนวนการพบผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 98,000 รายทั่วโลก และในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 440 ราย นับตั้งแต่พบการแพร่ระบาดครั้งแรกในประเทศเม็กซิโกเมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา

มารี ปอล คีนี ผู้อำนวยการวิจัยวัคซีนของ WHO ระบุว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กำลังระบาดอยู่ขณะนี้มาถึงขั้นที่ไม่สามารถควบคุมได้แล้ว ขณะที่นายเคอิจิ ฟูกูดะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการของ WHO กล่าวว่า การระบาดของเชื้อนี้อาจกินเวลานาน 1-2 ปี และนับจากเดือนเมษายนจนถึงวันนี้ โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังคงคร่าชีวิตผู้คนบนโลกอย่างไม่หยุดหย่อนเหมือนกับจะตอกย้ำว่า "หวัด" คือโรค "อมตะ" ที่ไม่มีวันสูญพันธุ์จากโลกใบนี้

กาฬโรคปอด

2 สิงหาคม 2552: จีนได้สร้างความสะพรึงกลัวให้กับทั่วโลก เมื่อประเทศที่ได้ชื่อว่ามีประชากรมากที่สุดในโลก เกิดการ ระบาดของ "โรคกาฬโรคปอด" ที่เมืองจื่อเคอทัน ในมณฑลชิงไห่ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยชาวจีนในพื้นที่ดังกล่าวต่างพากันอพยพออกนอกเมือง ขณะที่ทางการเร่งใช้มาตรการป้องกันโดยปิดเมืองเพื่อกักกันและตรวจโรคประชาชนราว 10,000 คนในเมืองดังกล่าว

ทั้งนี้ กาฬโรคปอด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่แพร่เชื้อทางอากาศ และสามารถติดต่อระหว่างบุคคลผ่านการไอ หรือ จาม ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้เป็นเชื้อตัวเดียวกับกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเป็นตัวการสร้างภัยพิบัติใหญ่แห่งมนุษยชาติและเคยจู่โจมยุโรปอย่างหนักหน่วงที่สุดในช่วงศตวรรษที่ 14 หรือยุคกลาง และสังหารชาวยุโรปไปมากสุดราว 25 ล้านคนจนทำให้ประชากรโลกในขณะนั้นลดลงไปมาก ขณะเดียวกัน ข้อมูลขององค์การอนามัยระบุว่า กาฬโรคปอดนับเป็นเชื้อที่น่ากลัวที่สุดตัวหนึ่ง เพราะผู้ติดเชื้ออาจเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง

ว่ากันว่าในปีหน้าและปีต่อๆไป โลกของเราจะเกิดเหตุเภทภัยทั้งโรคระบาดและภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นเป็นทวีคูณ แต่การทบทวนและเรียนรู้อดีตที่ผ่านมาในปีนี้ อาจมีคุณค่าพอที่จะทำให้เราเข้าใจปัจจุบัน และยอมรับกับความเป็นไปในอนาคต ตลอดจนพร้อมต้อนรับปีหน้าฟ้าใหม่ที่กำลังจะมาถึง...ในอีกไม่นานเกินรอ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ