H1N1 FLU: อภ.เริ่มทดสอบวัคซีนหวัด 09 ที่ผลิตได้เองในอาสาสมัคร 24 คน

ข่าวทั่วไป Friday December 18, 2009 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

องค์การเภสัชกรรม(อภ.) เริ่มทดสอบวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งไทยผลิตได้เองเป็นครั้งแรก โดยใช้วิธีฉีดพ่นเข้าทางจมูกให้แก่อาสาสมัครจำนวน 24 คน หลังจากนั้นจะทดสอบระยะที่ 2 กับอาสาสมัครอีก 400 คน หากประสบผลสำเร็จคาดจะนำวัคซีนออกใช้ได้จริงในช่วงปลายเดือน ก.พ.53

"ขณะนี้อาสาสมัครจำนวน 24 คนซึ่งเป็นกลุ่มแรกในโครงการศึกษาวัคซีนหวัดชนิดเชื้อเป็นทางคลินิกเพื่อดูความปลอดภัยและตรวจหาระดับภูมิต้านทานวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้รับวัคซีนฉีดพ่นทางจมูกที่ไทยผลิตขึ้นเองเป็นครั้งแรกแล้ว โดยทั้งหมดได้พักอยู่ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา"นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการ อภ.กล่าว

สำหรับการทดสอบวัคซีนแก่อาสามัครจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจำนวน 12 คน รับยาความแรงต่ำหรือ 6-6.5 ล็อก เมื่อเวลา 08.30 น.ส่วนอีก 12 คนจะรับยาที่มีความแรงสูงหรือ 7-7.5 ล็อกในช่วงบ่าย เพื่อหาความเหมาะสมว่าสูตรยาควรเป็นยาความแรงสูงหรือต่ำ จากนั้นจะติดตามอาการของอาสาสมัครเป็นเวลา 3 สัปดาห์ และจะให้วัคซีนรอบที่ 2 พร้อมดูอาการต่อเป็นเวลา 1 เดือนเพื่อตัดสินใจว่าผลทดสอบรอบที่ 1 จะพร้อมทดสอบกับอาสาสมัครอีกกลุ่มจำนวน 400 คนหรือไม่

ทั้งนี้ อาสาสมัครชุดแรกแบ่งเป็น หญิง 9 คนชาย 15 คน ทั้งหมดจะพักดูอาการที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ได้รับค่าตอบแทนคนละ 5,000 บาทในสัปดาห์แรก และต้องกลับมาตรวจร่างกายอีก 5-6 ครั้ง ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนครั้งละ 1,000 บาท

"การยืนยันเพื่อกระจายวัคซีนให้ประชาชนทั่วไปต้องรอหลังจากทดสอบกับอาสาสมัคร 400 คนก่อน คาดว่าหากไม่ติดปัญหาใดจะได้มีวัคซีนใช้เร็วที่สุดในปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า" นพ.วิชัย กล่าว

ด้าน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ.กล่าวว่า หากผลการทดสอบสรุปว่าควรใช้ยาความแรงต่ำจะสามารถผลิตวัคซีนได้ 10 ล้านโดส แต่หากใช้ยาสูตรความแรงสูงจะผลิตจำนวนลดลงจากเดิม 5 แสนถึง 1 ล้านโดส โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้อนุญาตว่าจะนำวัคซีนไปใช้ได้หรือไม่ และวัคซีนที่ผลิตได้ 90% จะมอบให้ อภ. ส่วนที่เหลืออีก 10% จะมอบให้องค์การอนามัยโลกตามข้อตกลง

อย่างไรก็ตาม การทดสอบในคนผ่านการศึกษาความปลอดภัยตามมาตรฐานและดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรมและหลักวิทยาศาสตร์ตามกฎระเบียบของไทย และข้อแนะนำระหว่างประเทศในการวิจัยทางคลินิก โดยได้ทำการประกันภัยการทดลองทางคลินิกและการดูแลรักษาที่จำเป็นทั้งหมด มีค่าชดเชยและเก็บข้อมูลไว้เป็นความลับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ