นายยุทธศักดิ์ ร่มฉัตรทอง ผู้อำนวยการ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งกรุงเทพมหานคร ประจำปี 53 ครั้งที่ 1/53 ว่า ทางกรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมักจะเกิดในช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค.ของทุกปี
กทม.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดำเนินการจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ประจำปี 53 เพื่อทำหน้าที่อำนวยการสนับสนุนประสานสำนัก สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การประสานการประปานครหลวงในการสนับสนุนน้ำประปาโดยไม่คิดมูลค่า เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้
ตลอดจนเตรียมพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ ในการปฏิบัติงานเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัย สำนักการระบายน้ำ ประสานกรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทานในการผันน้ำเข้าคูคลอง เพื่อการเกษตรกรรม การปศุสัตว์และการคมนาคมทางน้ำ รวมทั้งการป้องกันน้ำเค็ม สำนักการโยธา ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ล้มจากพายุลมแรงในช่วงฤดูแล้ง
รวมทั้งตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคาร สำนักพัฒนาสังคม ประสานสำนักงานเกษตรกรุงเทพมหานครและปศุสัตว์กรุงเทพมหานคร ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย การฝึกอาชีพแก่ผู้ใช้แรงงานที่เดินทางมาหางานทำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อม สนับสนุนรถบรรทุกน้ำพร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ที่จำเป็น สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย จัดเตรียมยารักษาโรค เวชภัณฑ์ และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ออกให้ความช่วยเหลือประชาชน และควบคุมโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับแผนดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ได้แบ่งระดับความรุนแรงของปัญหาเป็น 2 ระดับ คือ ระดับทั่วไป เป็นปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยศูนย์ปฏิบัติการและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับเขต จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การช่วยเหลือและสนับสนุน ส่วนระดับรุนแรง เป็นปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรง ต้องขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครและหน่วยงานภายนอก ซึ่งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งกรุงเทพมหานคร จะเป็นผู้รับผิดชอบจัดตั้งกองอำนวยการร่วมส่วนหน้า ณ พื้นที่เขตที่เกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรง โดยจัดเจ้าหน้าที่พร้อมวัสดุอุปกรณ์ รถบรรทุกน้ำ รถดับเพลิงจากสำนักงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขต
ทางด้านสำนักงานเขต ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับเขต ให้ประชาชนเตรียมการสำรองน้ำและใช้น้ำอย่างประหยัดคุ้มค่า การกำหนดจุดจ่ายน้ำดื่ม น้ำใช้ รวมทั้งการตรวจสอบคูคลอง แหล่งน้ำ บ่อน้ำบาดาล ให้อยู่ในสภาพใช้การได้ การจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆในการระงับอัคคีภัย เช่น ถังดับเพลิงในชุมชน รถน้ำ เครื่องสูบน้ำชนิดหาบหาม การสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย เช่นอาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง ชุมชนแออัด และย่านการค้าที่มีประชาชนหนาแน่น ตลอดจนสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย สำรวจเส้นทางเข้าออกชุมชน แหล่งน้ำและหัวจ่ายน้ำดับเพลิง ประปาหัวแดง ให้พร้อมใช้งานเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัย