(เพิ่มเติม) ปภ.เผยพื้นที่ภัยแล้งเพิ่มเป็น 23 จังหวัด พท.เกษตรเสียหายกว่า8หมื่นไร่

ข่าวทั่วไป Tuesday February 23, 2010 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง รวม 23 จังหวัด 173 อำเภอ 1,150 ตำบล 7,494 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 2,250,616 คน 633,586 ครัวเรือน คาดว่าพื้นที่การเกษตรจะได้รับความเสียหาย รวม 82,274 ไร่ แยกเป็น พืชไร่ 78,353 ไร่ นาข้าว 3,431 ไร่ พืชสวนและอื่น 490 ไร่ แยกเป็น ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย ตาก น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ รวม 91 อำเภอ 611 ตำบล 3,785 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 995,367 คน 322,447 ครัวเรือน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น อุดรธานี รวม 46 อำเภอ 342 ตำบล 2,368 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 799,154 คน 202,533 ครัวเรือน

ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี รวม 14 อำเภอ 91 ตำบล 644 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 138,891 คน 35,755 ครัวเรือน ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว รวม 8 อำเภอ 51 ตำบล 401 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 227,060 คน 53,152 ครัวเรือน ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นครศรีธรรมราช สตูล และระนอง รวม 14 อำเภอ 55 ตำบล 296 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 90,144 คน 19,699 ครัวเรือน

เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 มีจังหวัดที่ประสบภัยแล้งรวม 23 จังหวัด 126 อำเภอ 758 ตำบล 5,527 หมู่บ้าน พื้นที่ประสบภัยแล้งปี 2553 มากกว่าปี 2551 จำนวน 47 อำเภอ 365 ตำบล 1,967 หมู่บ้าน

สำหรับการเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาภัยแล้งและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2553 ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมประสานให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ในลักษณะเดียวกับส่วนกลางทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว

และในเบื้องต้นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ 110 คัน แจกจ่ายน้ำอุปโภค บริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยแล้งไปแล้วจำนวน 4,632,000 ลิตร ซ่อมสร้างทำนบ ฝายชั่วคราวปิดกั้นลำน้ำ 1,776 แห่ง ขุดลอกแหล่งน้ำ 270 แห่ง

ดังนั้น ขอให้ประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด และวางแผนการใช้น้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรกรควรปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย และวางแผนการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการน้ำที่จังหวัดกำหนด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ