นายกฯ เผยแรงงานมีส่วนสำคัญต่อศก. ยันเดินหน้าช่วยเหลือ-เพิ่มคุณภาพชีวิต

ข่าวทั่วไป Saturday May 1, 2010 11:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 53 ว่าแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดผลผลิต ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ใช้แรงงานเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจ และสังคม และรัฐบาลตระหนักความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน จึงมุ่งมั่นดำเนินการให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โดยรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานหลายด้าน เพื่อช่วยให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากผ่านพ้นสภาพวิกฤต โดยมีมาตรการสำคัญ เช่น การร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อชะลอการเลิกจ้าง การดำเนินมาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม การขยายระยะเวลาให้ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างได้รับเงินประกันสังคมกรณีว่างงาน จากเดิมไม่เกิน 180 วัน เป็นไม่เกิน 240 วัน นอกจากนี้พบว่า จำนวนคนว่างงานในปีนี้จะลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากการดำเนินงานด้านสวัสดิการแรงงาน การพัฒนาแรงงาน รวมถึงแรงงานสัมพันธ์ของรัฐบาล จะได้รับการยกระดับให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

แลรัฐบาลยังคงเดินหน้ามาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานด้านต่างๆ ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ปีที่แล้วนั้น ยังคงดำเนินการต่อไป และรัฐบาลเตรียมแนวทางดำเนินงานไว้สำหรับอนาคต ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานด้านค่าครองชีพ การพัฒนาระดับฝีมือ และสามารถกลับสู่การจ้างงานได้มากขึ้นด้วย

ด้านนายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวภายหลังการ เป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ที่ท้องสนามหลวงว่า ในปีนี้ผู้ใช้แรงงานไม่เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากให้นโยบายว่า ค่าแรงขั้นต่ำจะเน้นไปใช้กับแรงงานต่างด้าว สำหรับคนไทยต่อไปจะให้ทุกคนมีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ โดยจะให้มีการอบรมที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงทำให้แรงงานไทยไม่ได้เรียกร้องอะไรเพิ่ม

ทั้งนี้ 12 สภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ยื่นข้อเรียกร้อง 9 ข้อ ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ประกอบด้วย

1.รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้าง 2.ต้องยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้าง ในกรณีค่าชดเชยและรายได้อื่น ๆ ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้าย 3.แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปี 41 มาตรา 118 ให้แก่ลูกจ้าง จากเดิมอายุงาน 10 ปีขึ้นไปจ่าย 10 เดือน เป็นอายุงาน 10 ปีขึ้นไป เพิ่มอีกปีละ 1 เดือน 4.การประกันสังคม เรียกร้อง 3 กรณี คือ รัฐต้องขยาย พ.ร.บ.เงินทดแทน ปี 37 กรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน ให้มีสิทธิการรักษาพยาบาล เหมือนผู้ประกันตนใน พ.ร.บ.ประกันสังคม ปี 33 ต้องแก้ไข มาตรา 39 ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบฝ่ายเดียว และกรณีสงเคราะห์บุตร ที่จ่ายประโยชน์ทดแทนให้บุตรอายุไม่เกิน 6 ปี เป็นอายุไม่เกิน 15 ปี 5.ต้องยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ปี52 และยกเลิกการขายรัฐวิสาหกิจทุกกิจการ

6. ต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 7.ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 8.ต้องจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบกิจการ โดยนายจ้างสามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ และ 9.รัฐต้องตั้งคณะทำงานติดตามและประสานงานข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 53


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ