สธ.เผยหญิงเป็นสิงห์อมควันมากขึ้นหลังตกเป็นเป้าหมายของผู้ผลิตบุหรี่

ข่าวทั่วไป Sunday May 30, 2010 18:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.สาธารณสุข(สธ.) เผยผู้หญิงมีแนวโน้มสูบบุหรี่สูงขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากบริษัทผลิตบุหรี่เน้นทำการตลาดออกผลิตบุภัณฑ์สำหรับผู้หญิงมากขึ้น เตรียมเร่งรณรงค์เพื่อไม่ให้ผู้หยิงตกเป็นทาสบุหรี่มากขึ้น

"ผู้หญิงมีแนวโน้มสูบบุหรี่มากขึ้น โดยขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ติดบุหรี่มากกว่า 1,000 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงประมาณ 200 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีแนวโน้มใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา พบหญิงไทยสูบบุหรี่ 840,000 คน และมีแนวโน้มสูบบุหรี่มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น" นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าว

สำหรับแนวทางการรณรงค์งดสูบบุหรี่ในปีนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดประเด็นการณรงค์ คือ Gender and tobacco with an emphasis on marketing to women หรือหญิงไทยฉลาดไม่เป็นทาสตลาดบุหรี่ เพื่อลดการสูบบุหรี่ในผู้หญิงโดยเฉพาะวัยรุ่น

"เนื่องจากบริษัทที่ผลิตบุหรี่รู้จุดอ่อนตรงนี้และมองเห็นช่องว่างที่เหลืออยู่ทางด้านการตลาด เพราะว่าโอกาสที่จะเพิ่มการตลาดในกลุ่มผู้หญิงยังมีอยู่มาก จึงมามุ่งเน้นตรงนี้ ดังนั้นจึงต้องช่วยกันในการที่จะรณรงค์ให้ประชาชนทุกกลุ่มสูบบุหรี่ลดลงโดยเฉพาะกลุ่มหญิงวัยรุ่นที่เป็นเป้าหมายทางการตลาดของบริษัทผลิตบุหรี่" นายจุรินทร์ กล่าว

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงสูบบุหรี่มากขึ้นนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการทำการตลาดของบริษัทบุหรี่ที่มีการออกแบบุหรี่ในหลายรูปแบบ เช่น การใส่กลิ่น ปรับรส เน้นในเรื่องของการโฆษณาเพื่อที่จะจูงใจให้ผู้หญิงหันมาสูบบุหรี่มากขึ้น รวมถึงมีการผลิตบุหรี่เพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ ดังนั้นจึงต้องรู้เท่าทันบริษัทบุหรี่โดยเฉพาะบริษัทบุหรี่ข้าชาติ หากไม่มีความเข้มแข็งพอ ตกไปเป็นเหยื่อทางการตลาดจนในที่สุดอาจตกเป็นทาสของบุหรี่ซึ่งจะนำมาสู่โรคภัยไข้เจ็บ เฉพาะในประเทศไทยพบว่าผู้เสียชีวิตทุก 10 คน จะมี 1 คนที่เสียชีวิตการสูบบุหรี่

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับมูลนิธิ หน่วยงานต่างๆรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ ซึ่งจะต้องดำเนินการตลอดอย่างต่อเนื่องรวมถึงการออกกฎระเบียบเพิ่มเติม เช่น ประกาศกระทรวงฉบับที่ 19 ซึ่งได้กำหนดเขตพื้นที่ที่ห้ามสูบบุหรี่เพิ่มเติมขึ้น โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาด เช่น สนามกีฬา ศาสนาสถาน 2.สูบได้ในพื้นที่ที่กำหนดไว้นอกตัวอาคาร และ 3.สูบได้ในอาคาร ซึ่งประเทศไทยอนุญาตให้สูบได้เพียงพื้นที่เดียว คือ สนามบินสุวรรณภูมิ ในส่วนต่างประเทศอนาคตจะต้องห้ามสูบด้วย ขณะนี้ได้ร่วมมือกับองค์การอนามัยลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง สสส.กับองค์การอนามัยโลก

"เรื่องบุหรี่เป็นอีกเรื่องที่จะร่วมมือกันดำเนินการต่อไป ซึ่งหากร่วมมือรณรงค์อย่างจริงจัง ตัวเลขผู้สูบบุหรี่จะลดลง" นายจุรินทร์ กล่าว

แท็ก สาธารณสุข  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ