กษ.ตั้งเป้าธ.ค.53ปล่อย"แตนเบียน"สกัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังได้1.18ล้านไร่

ข่าวทั่วไป Monday July 19, 2010 14:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังมีการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังในพื้นที่ 36 จังหวัด ครอบคลุมเนื้อที่ 406,962 ไร่ สำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุด คือ จ.นครราชสีมา รองลงมา ได้แก่ จ.กาญจนบุรี พิษณุโลก กาฬสินธุ์ และยโสธร ทั้งยังพบการระบาดเพิ่มขึ้นใน จ.พิษณุโลกและบุรีรัมย์ด้วย ซึ่งต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และต้องลดพื้นที่ระบาดลงโดยเร็ว ขณะเดียวกันยังต้องเร่งฟื้นฟูแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับความเสียหายด้วย

นายศุภชัย กล่าวต่อไปว่า ความเสียหายจากการระบาดของเพลี้ยแป้งในช่วงที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าจะทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังในปีนี้โดยรวมของประเทศลดลงจาก 27.76 ล้านตัน เหลือเพียง 22.12 ล้านตัน และเกษตรกรอาจขาดแคลนท่อนพันธุ์สำหรับปลูกในฤดูถัดไป ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม มันสำปะหลังไทยได้ ไม่ว่าจะเป็นแป้งมัน มันเส้น และมันอัดเม็ด รวมถึงการผลิตเอทานอลและกระทบต่อการส่งออกด้วย

ดังนั้น จึงได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ นอกจากจะได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการ ควบคุมและป้องกันเพลี้ยแป้งให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจำนวน 260,131 รายแล้ว ยังได้รณรงค์ให้เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดเพลี้ยแป้ง จำนวน 709,926 ไร่ รวมทั้งส่งเสริมให้แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีก่อนปลูก รวมกว่า 7.41 แสนไร่ เป็นต้น

ด้านนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้นำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์แตนเบียน Anagyrus lopezi จากสาธารณรัฐเบนิน จำนวน 500 ตัว เพื่อเพาะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนที่ห้องปฏิบัติการของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช พร้อมศึกษาทดสอบความปลอดภัยในห้องปฏิบัติ การกักกัน แล้วนำแตนเบียนที่เพาะได้ไปทดลองปล่อยในแปลงปลูกมันสำปะหลังภายในศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง จ.ระยอง และพื้นที่ของสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย (ห้วยบง) จ.นครราชสีมา ซึ่งมีการระบาดของเพลี้ยแป้ง เพื่อศึกษาความสามารถในการอยู่รอดของแตนเบียนและศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

เบื้องต้นพบว่า แตนเบียน A. lopezi ไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อสภาพแวดล้อม เนื่องจากแตนเบียนจะทำลายเฉพาะเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู (Phenacoccus manihoti) ซึ่งเป็นชนิดที่ระบาดทำลายมันสำปะหลังอยู่ในขณะนี้ นับว่ามีความปลอดภัยสูงมาก การใช้แตนเบียนควบคุมเพลี้ยแป้งจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยลดความเสียหายให้กับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังได้เป็นอย่างดี ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกมันสำปะหลังได้โดยไม่ต้องพ่นสารเคมี ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเกษตรกร ผู้บริโภคและสภาพแวดล้อมได้ ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้เร่งจัดฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงและปล่อยแตนเบียน A. lopezi ให้แก่นักวิชาการของกรมฯ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ผู้นำเกษตรกร และผู้แทนโรงงานแป้งมันและอุตสาหกรรมแป้ง เพื่อช่วยกันผลิตแตนเบียนและทยอยปล่อยในพื้นที่ปลูกเพื่อควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง คาดว่าจะสามารถผลิตได้เดือนละ 5,000 — 50,000 คู่ รวมกับความสามารถของแตนเบียนในการเพิ่มปริมาณได้ในธรรมชาติอย่างน้อย 10 เท่าในทุก ๆ เดือน คาดว่าภายในเดือนธันวาคม 2553 นี้ จะสามารถผลิตและปล่อยแตนเบียนครอบคลุมพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่า 1.18 ล้านไร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ