กรมศิลป์เล็งชง ครม.พิจารณาลงนามสัตยาบันคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำ

ข่าวทั่วไป Monday August 9, 2010 19:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมศิลปากรเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเรื่องการลงนามในสัตยาบันว่าด้วยอนุสัญญาการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่ใต้น้ำตามข้อเรียกร้องขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ(ยูเนสโก) โดยตั้งข้อสังเกตุบทบัญญัติบางส่วนมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศหรืออำนาจรัฐ หลังพบประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ และกัมพูชา ปฏิเสธเข้าร่วมอนุสัญญาฉบับดังกล่าว

"การไม่เข้าร่วมอนุสัญญาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทย เพราะการปกป้องมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำยังสามารถดำเนินการได้ภายใต้หลักเกณฑ์กฎบัตรว่าด้วยการปกป้องและบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำที่จัดทำขึ้นโดยสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites: ICOMOS) ซึ่งไทยเป็นสมาชิกอยู่ แต่จากการศึกษาพบว่าหลายๆ ประเทศไม่เข้าร่วมอนุสัญญา อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกาและกัมพูชา ซึ่งต้องศึกษาว่าทำไมประเทศเหล่านั้นกลับไม่ได้ลงนามสัตยาบันดังกล่าว" นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวได้ดำเนินการพิจารณาและวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย รวมทั้งผลกระทบของการลงสัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับดังกล่าว โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องเสนอให้ที่ประชุม ครม.และรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ เนื่องจากบทบัญญัติบางส่วนมีลักษณะอันเป็นการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศหรืออำนาจรัฐ รวมทั้งพิจารณาว่าต้องร่าง พ.ร.บ.เพื่อรองรับอนุสัญญาดังกล่าวหรือไม่ เพราะขณะนี้ไทยยังไม่มีกฎหมายมารองรับเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เสนอให้ศึกษาการลงนามอนุสัญญาฯ ให้ละเอียดมากกว่านี้ เพราะแม้ว่าอนุสัญญาจะไม่มีบทบัญญัติใดระบุถึงสิทธิเขตอำนาจของแต่ละประเทศ แต่มีบทบัญญัติบางส่วนกล่าวอ้างถึงอนุสัญญาองค์การสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ซึ่งปัจจุบันไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีเช่นกัน ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ เห็นว่าอาจจะมีผลกระทบต่อเขตไมล์ทะเลโดยเฉพาะประเทศกัมพูชา ซึ่งกรมศิลปากรจะรายงานความคืบหน้าทั้งหมดต่อนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รมว.วัฒนธรรม เพื่อตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยปัจจุบันมีประมาณ 60 ประเทศที่ร่วมลงนามในสัตยาบันดังกล่าวแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ