ศาล รธน.นัดไต่สวนคดี ส.ส.-ส.ว.ถือหุ้นต้องห้ามอีก 3 นัด,คาดรู้ผล ต.ค.

ข่าวทั่วไป Friday September 10, 2010 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องกรณีที่ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 กรณีสมาชิกภาพของ ส.ส. และ ส.ว.รวมทั้งหมด 45 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 119(5) และ106(6) เนื่องจากกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265(2) (4) ถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อและบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐหรือไม่ อีก 3 นัด คาดรู้ผลวินิจฉัยคดีภายในเดือน ต.ค.นี้

โดยเป็นการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องอีก 3 นัด ได้แก่ วันที่ 17 ก.ย.จำนวน 2 ปาก ประกอบด้วย พล.ท.ศานิต สร้างสมวงศ์ และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการไต่สวนของ กกต. ส่วนอีก 2 นัด 14 ปาก แบ่งเป็น วันที่ 24 ก.ย.จำนวน 7 ปาก และวันที่ 1 ต.ค.อีกจำนวน 7 ปาก

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มไต่สวนพยานผู้ร้องนัดแรกตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดให้สอบพยานทั้งหมด 19 ปาก และในวันนี้เป็นการไต่สวนพยานผู้ร้องนัดสุดท้ายจำนวน 2 ปาก คือ นายจิตชาย มุสิกบุตร ผู้แทน บมจ.ชินคอร์เปอเรชั่น(SHIN) และนายณัฐศักดิ์ ชัยชนะ ผู้แทน บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTSC)

โดยมีการสอบถามถึงการดำเนินการของทั้ง 2 บริษัทฯ ซึ่งตัวแทน SHIN ได้ชี้แจงว่า บริษัทฯ เข้าไปถือหุ้นในบริษัทต่างๆ เช่น บมจ.ไทยคม(THCOM), บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) และ บมจ.ไอทีวี(ITV) ซึ่งไม่ได้เป็นคู่สัญญาสัมปทานของรัฐโดยตรง

ขณะที่ผู้แทนผู้ถูกร้องได้พยายามซักค้านเพื่อชี้ให้เห็นว่า แม้ BTSC จะได้รับสัมปทานการให้บริการระบบขนส่งมวลชนระบบกลางในกรุงเทพฯ แต่ก็มิได้ผูกขาดแต่เพียงบริษัทเดียว เนื่องจากในอนาคตยังจะมีบริษัทอื่นๆ มาให้บริการ และได้รับสัมปทานเช่นกัน

นอกจากนี้ การซักค้านของผู้แทนผู้ถูกร้องยังพยายามชี้ให้เห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องมีหุ้นอยู่เพียง 2-3 พันหุ้นไม่สามารถเข้าไปครอบงำกิจการ หรือข้องเกี่ยวกับการบริหารงานของบริษัท เพราะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยที่หวังผลกำไรเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ