ก.เกษตรฯ ของบ 2.18 พันลบ.จัดระบบการปลูกข้าว ช่วง 3 ปี

ข่าวทั่วไป Tuesday September 28, 2010 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอนุมัติโครงการจัดระบบการปลูกข้าว ซึ่งเป็นโครงระยะยาว 3 ปี (2554-2556) ใช้งบประมาณ 2,180 ล้านบาท โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาแนวทางและการจัดระบบการปลูกข้าวไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี จากขณะนี้ที่มีการปลูกกันมากถึง 3-4 ครั้งต่อปี

รมว.เกษตรฯ ได้ชี้แจงว่าต้นทุนการผลิตลดลงจากการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องและเหมาะสม เช่น ชนิดพันธุ์ที่เหมาะสม เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ การใช้เมล็ดพันธุ์ในปริมาณที่เหมาะสม การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูข้าวที่ถูกต้อง รวมทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อไร่ลดลง และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20

โดยมีเป้าหมายดำเนินการในระยะแรก จำนวน 9,000,000 ไร่ ใน 22 จังหวัด ในเขตชลประทาน ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุทัยธานี ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก ฉะเชิงเทรา ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีปัญหา หรือมีพื้นที่ต่อเนื่องกับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทั้ง 22 จังหวัดด้วย (โ ดยมีเกณฑ์ที่ใช้เป็นกรอบในการคัดเลือก คือ มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังตั้งแต่ 100,000 ไร่ขึ้นไป หรือเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หรือเป็นพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หรือมีพื้นที่ในเขตชลประทานตั้งแต่ 150,000 ไร่ขึ้นไป และสามารถปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปี)

ด้านแนวคิดในการจัดระบบการปลูกข้าวใหม่เป็น 4 ระบบ คือ ระบบการปลูกข้าวแบบที่ 1 คือ ข้าวนาปี-ข้าวนาปรัง-พืชหลังนา ระบบการปลูกข้าวแบบที่ 2 คือ ข้าวนาปี-ข้าวนาปรัง-เว้นปลูก ระบบการปลูกข้าวแบบที่ 3 คือ ข้าวนาปี-พืชหลังนา-ข้าวนาปรัง ระบบการปลูกข้าวแบบที่ 4 คือ ข้าวนาปี-เว้นปลูก-ข้าวนาปรัง

ชนิดพันธุ์พืชหลังนาและพืชปุ๋ยสดทดแทนข้าวในแต่ละระบบการปลูกข้าวให้เกษตรกรร่วมดำเนินการคัดเลือก โดยมีภาครัฐเป็นผู้ให้ข้อมูลทางวิชาการและการตลาด

มาตรการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการน้ำซึงเป็นไปตามมติคณะกรรมการในระดับพื้นที่ 2)การใช้สิทธิประกันรายได้ของเกษตรกรไม่เกินปีละ 2 ครั้ง 3) การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชหลังนา/พืช ปุ๋ยสด/พืชอื่น ๆ/ปัจจัยการผลิต 4)การจัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตพืชหลังนา/พืชปุ๋ยสด 5)การผ่อนปร นดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 6) ขอเลื่อนกำหนดเวลาการชำระหนี้ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับ ธ.ก.ส.การจัดระบบการปลูกข้าว

นอกจากนี้ ระบบนิเวศน์ในพื้นที่นาเขตชลประทานดีขึ้น จากการพักดินหรือการปลูกพืชอื่นหมุนเวียน ทำให้พื้นที่นาได้รับการฟื้นฟู และปรับปรุงโครงสร้างของดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะหากมีการปลูกพืชหมุนเวียนซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วจะให้เพิ่มธาตุอาหารในดินทำให้เกษตรกรสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีและลดสารเคมีเนื่องจากการสะสมของศัตรูข้าวลดลง ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นในวงกว้างทั้งในพื้นที่นา แหล่งน้ำ และภูมิอากาศ ตลอดจนลดก๊าซมีเทนซึ่งมีผลต่อภาวะโลกร้อน

อีกทั้ง ยังเป็นการฟื้นฟูแมลงศัตรูธรรมชาติ ซึ่งช่วยควบคุมและลดการระบาดของโรคแมลงศัตรูข้าวได้ และสามารถประหยัดน้ำชลประทานได้ประมาณ 1,200-2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร, เพิ่มปริมาณผลผลิตพืชไร่บางชนิดและทดแทนการนำเข้า ทำให้ไม่สูญเสียเงินตราต่างประเทศ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น คิดเป็นมูลค่ารวมปีละกว่า 10,000 ล้านบาท และยังสามารถลดการนำเข้าสารเคมีและปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ