เอแบคเผย ก.ย.53 ดัชนีความสุขของคนไทยปรับตัวสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน

ข่าวทั่วไป Friday October 1, 2010 10:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน(ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) เอแบค เผยดัชนีความสุขของประชาชนคนไทยภายในประเทศ(Gross Domestic Happiness:GDH) เดือน ก.ย.53 อยู่ที่ 6.57 จากคะแนนเต็ม 10 โดยลดลงจาก 6.77 ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสุขของประชาชนภายในประเทศลดต่ำลงมาจากสถานการณ์การเมือง ความไม่เป็นธรรมทางสังคม สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และภาพลักษณ์ของประเทศไทย แต่โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยยังมีความสุขสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

"ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าปัจจัยลบที่ดึงความสุขคนไทยให้ต่ำลงจำเป็นต้องให้ผู้ใหญ่ในสังคมไทยหันมาแก้ปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่องคือ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม การถูกเอารัดเอาเปรียบ การมุ่งกอบโกยผลประโยชน์และปัญหาทุจริตคอรัปชั่น" นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าว

ปัจจัยที่ทำให้ประชาชนคนไทยมีความสุขระดับมากถึงมากที่สุดในทุกภูมิภาคคือ เรื่องความจงรักภักดี และบรรยากาศของคนในครอบครัว โดยประชาชนในภาคเหนือมีความสุขมากที่สุดอยู่ที่ 7.14 รองลงมาคือประชาชนในภาคใต้มีความสุขอยู่ที่ 6.94 อันดับสามคือประชาชนในภาคกลางมีความสุขอยู่ที่ 6.42 ส่วนสองอันดับสุดท้ายคือ ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประชาชนคนกรุงเทพมหานคร มีความสุขอยู่ที่ 6.41 และ 5.82 ตามลำดับ

"ประชาชนที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพมหานครมีค่าคะแนนความสุขอยู่ในขั้นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะค่าความสุขของประชาชนคนกรุงเทพมหานครในทุกตัวชี้วัดต่ำกว่าประชาชนในภาคอื่นๆ ของประเทศ ที่อยู่ในขั้นวิกฤตคือค่าคะแนนความสุขต่ำสุดของคนกรุงเทพมหานครคือ ได้เพียง 3.93 คะแนนในดัชนีชี้วัดความสุขต่อสถานการณ์การเมืองของประเทศ และเรื่องที่อยู่ในขั้นวิกฤตอื่นๆ ของคนกรุงเทพมหานคร คือ ความเป็นธรรม ไม่เป็นธรรมทางสังคมที่ตนเองได้รับมีค่าความสุขเพียง 4.60 เรื่องสภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีเพียง 4.62 และเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศไทย คนไทยในสายตาต่างชาติได้เพียง 4.81" นายนพดล กล่าว

นายนพดล กล่าวว่า จากการสัมภาษณ์เจาะลึกเชิงคุณภาพกับประชาชนคนกรุงเทพมหานครแล้ว พบว่าส่วนใหญ่ระบุว่า นักการเมืองมีแต่เรื่องวุ่นวาย น่าเบื่อหน่าย มองไปที่นักการเมืองคนไหนหาคนดีๆ ได้ยาก มีแต่ทุจริตคอรัปชั่น ผลประโยชน์ แย่งอำนาจ แย่งกันเป็นใหญ่ เอาแต่พูดดี ไม่มีใครจริงใจจริงจังเพื่อบ้านเมือง จบเรื่องนี้ต่อเรื่องนั้นให้วุ่นวายไม่จบสิ้น เมื่อถามถึงแผนปรองดองของฝ่ายการเมือง กลับถูกประชาชนผู้ถูกศึกษาย้อนกลับมาว่า "แผนปรองดองเหรอ พวกเขาไปปรองดองกันให้สำเร็จก่อน ก่อนเอามาให้ประชาชน"

ส่วนแผนปรองดองจะทำให้มีความสุขได้มั้ย คำตอบคือ "ถ้าทำได้จริงตามที่พูดก็น่าจะทำให้มีความสุขได้ รักกันสามัคคีกัน อภัยให้กัน ใครผิดว่าไปตามผิด ใครถูกว่ากันไปตามกฎหมายบ้านเมืองก็น่าจะดี แต่พวก...เอาแต่พูดดี" และเรื่องความพยายามจะให้มีการนิรโทษกรรมของฝ่ายการเมือง ผู้ถูกศึกษามีเสียงแตกออกเป็นสองฝ่ายพอๆ กัน บางคนบอกว่าดีเรื่องจะได้จบกันไป ให้อภัยกันไป แต่บางคนกลับมองว่า ยังไงมันไม่มีทางจบได้ มันจะมีเรื่องใหม่มาให้ทะเลาะกันอีก ทางที่ดีคือให้ว่ากันไปตามตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง

"จากการวิจัยความสุขชุมชนของคนไทยที่ผ่านมาเห็นได้ว่า คุณภาพของนักการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ความไม่เป็นธรรมในสังคมที่ประชาชนได้รับหรือพบเห็น สภาวะเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาต่างชาติทำให้ความสุขคนไทยลดลง ดังนั้นในสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้จึงต้องให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ต้องช่วยกันประสานสร้างเครือข่ายสุขภาวะร่วมกันในสังคมทั้งทางใจ ทางกาย ทางจิตวิญญาณ และทางสังคมวัฒนธรรมประเพณีไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นคนไทยทำให้ประชาชนคนไทยทุกคนกลับคืนมาเป็นหนึ่งเดียวบนรากฐานมั่นคงของประเทศ" นายนพดล กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ได้สำรวจความเห็นเรื่องดังกล่าวจากประชาชนใน 28 จังหวัด จำนวน 5,059 ตัวอย่าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ