นายกฯเผยอาเซียนจะประสานงานแต่ไม่แทรกแซงปัญหาข้อพิพาทไทย-กัมพูชา

ข่าวการเมือง Sunday February 20, 2011 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับทางกัมพูชา ว่า ขณะนี้คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติได้รับฟังข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย และเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะกลับมาพูดคุยกันได้ โดยอาจจะมีทางอาเซียนเข้ามาเป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือผู้ประสานงานให้ ซึ่งก็จะได้มีการจัดประชุมในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นี้

"ซึ่งก็ย้ำว่าจุดยืนของอาเซียนเท่าที่เราติดตามประสานงานอยู่นั้น อาเซียนจะไม่เข้ามาแทรกแซงในเรื่องของเนื้อหารายละเอียดที่จะมีทางพูดคุยกับทางกัมพูชา เพียงแต่จะเป็นผู้ที่อำนวยความสะดวกจัดให้มีการพบปะกัน หรืออาจะเป็นสักขีพยานในการพูดคุยกัน อันนี้เป็นสิ่งที่จะมีการดำเนินการ แต่ผมและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินหน้าในการที่จะประสานงานให้ประชาคมโลกมีความเข้าอกเข้าใจกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น"

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสพูดโทรศัพท์กับผู้อำนวยการใหญ่ของทางยูเนสโก ซึ่งขณะนี้ดูจะมีความเข้าใจตรงกับเรามากขึ้นแล้ว ปัญหาในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยทางท่านผู้อำนวยการยอมรับว่าการจะให้ไปทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ในขณะที่ปัญหาเรื่องเขตแดนยังเป็นปัญหาอยู่นั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะสามารถจะดำเนินการได้ เพราะฉะนั้นผมก็ขอให้ทางมรดกโลกและยูเนสโกพิจารณาว่าแทนที่จะเอาเรื่องนี้ไปคุยกันอีกในเดือนมิถุนายน ควรจะปล่อยให้ทั้งสองฝ่ายไปดำเนินการกรอบการเจรจาในเรื่องของเขตแดนให้เรียบร้อย และก็หยุดยั้งปัญหาในเรื่องของมรดกโลกไว้ก่อน

ส่วนเรื่องของความห่วงใยในเรื่องว่าตัวปราสาทพระวิหารนั้นจะมีปัญหาหรือไม่อย่างไร ถ้าไม่มีการขึ้นทะเบียนการอนุรักษ์ ผมยืนยันว่า จริง ๆ แล้วทั้งสองประเทศสามารถดูแลสภาพแวดล้อมได้ ที่สำคัญก็คือว่า การไปเพิ่มความตรึงเครียดนั้นไม่เป็นประโยชน์ เราได้ส่งหลักฐานชัดเจนว่ามีการนำเอาทหารของทางฝ่ายกัมพูชาเข้าไปอยู่ในตัวปราสาท ซึ่งเป็นการขัดกับหลักใน-เรื่องของมรดกโลก และขัดกับข้อตกลงของต่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้นนี่เป็นสิ่งที่เป็นความคืบหน้า

ส่วนที่ประชาชนมีความห่วงใยว่า ที่จะมีการเจรจาต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของการหยุดยิงนั้นจะเป็นปัญหาหรือไม่อย่างไร ขอเรียนนะครับว่า เราไม่เคยเป็นฝ่ายที่ยิงก่อนอยู่แล้ว และไม่ว่าจะมีข้อตกลงใด ๆ นั้น ก็คงไม่มีตรงไหนที่จะมาห้ามหรือบังคับไม่ให้เราสามารถที่จะปกป้องอธิปไตย หรือการรุกล้ำต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้อยากให้มีความมั่นใจว่าทางรัฐบาลจะเดินหน้าในการทำเรื่องนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดความสงบสุขเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยไม่มีการสูญเสียในเรื่องของอธิปไตยหรือดินแดนแต่ประการใดทั้งสิ้น นี่เป็นเรื่องที่จะได้มีการรายงานให้ทราบเป็นระยะ ๆ ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ