เลือกตั้ง'54: NIDA คาดตั้งรัฐบาลผสมหลังเลือกตั้งเสียงเกิน 300 ที่นั่ง

ข่าวการเมือง Friday July 1, 2011 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต(MPA)คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ (NIDA) เชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศหลังเลือกตั้งนั้นจะเป็นรัฐบาลผสม ไม่ว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่งจะมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือได้คะแนนเสียงมากกว่าหรือน้อยกว่า 250 ที่นั่ง ก็จะต้องชักชวนพรรคที่มีนโยบายการทำงานที่ใกล้เคียงกันมาร่วมเป็นรัฐบาลในการบริหารประเทศ

ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีเสียง ส.ส.ในสภาไม่ต่ำกว่า 300 ที่นั่ง เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้มั่นคง

“การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะง่ายหรือยากอยู่ที่พรรคใหญ่ทั้ง 2 พรรคว่าจะได้คะแนนเสียงมากกว่า 250 ที่นั่งหรือไม่ ซึ่งหากเกิน 250 ที่นั่ง ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะฟอร์มทีมรัฐบาล โดยดึงพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาลให้ได้คะแนนเสียงมากกว่า 300 ที่นั่ง ก็ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ แต่หากพรรคใหญ่ทั้ง 2 พรรค ต่างมีคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งทั้งคู่ ก็เชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้จะมีการแข่งจัดตั้งรัฐบาล ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่ไม่แข็งแกร่งและกลายเป็นจุดอ่อนซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยได้"นายมนตรี กล่าว

การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค.นั้น พรรคการเมืองทุกพรรคควรรักษามารยาททางการเมือง โดยพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด ต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งผู้สมัครปาร์ตี้ลิสอันดับที่ 1 จะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หากพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดไม่สามารถฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลได้ ก็ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 2 มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล เพื่อเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งถือเป็นมารยาทนักการเมืองที่ดีพึงปฏิบัติ

ส่วนรัฐบาลชุดใหม่จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากน้อยเพียงใด ยังต้องดูถึงปัจจัยของคะแนนเสียงของคนกรุงเทพฯ ด้วยว่าพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุด ได้คะแนนจากคนกรุงเทพฯเกินกึ่งหนึ่งหรือไม่ เพราะหากได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง ย่อมทำให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนมากที่สุดได้รับการสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ หากพรรคการเมืองสามารถฟอร์มทีมรัฐบาลได้เร็ว ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามากำหนดนโยบายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพิจารณางบประมาณปี 55 ที่เชื่อว่าอาจมีการแก้ไขเพื่อให้เกิดการสนับสนุนขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้ หาเสียงไว้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการใดๆ ของรัฐบาลชุดใหม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยเงินเฟ้อ ที่จะเป็นแรงกดดันสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง และคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของโลกให้มากขึ้น เพื่อที่รัฐบาลชุดใหม่จะสามารถกำหนดแนวทางการส่งออกหรือการดำเนินนโยบาย เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคงต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ