พธม.ยันจุดยืนพร้อมเคลื่อนพลหากรัฐออก กม.นิรโทษกรรม"แม้ว",จาบจ้วงสถาบัน

ข่าวการเมือง Friday October 7, 2011 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสการรำลึก 3 ปีวีรชน 193 วัน โดยประกาศจุดยืนเดิมที่จะเคลื่อนมวลชนออกมาชุมนุมทันทีก็ต่อเมื่อ 1. มีการตรากฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมให้กับนักโทษชายทักษิณ หรือ 2. รัฐบาลได้สนับสนุนและสร้างขบวนการจาบจ้วงล้มล้างพระราชอำนาจหรือสถาบันพระมหากษัตริย์

"เราไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของคณะนิติราษฎร์ที่จะล้มเลิกคำพิพากษาของศาลฎีกาเพื่อช่วยนักโทษชายทักษิณให้ไม่ต้องรับผิดในการทำผิดกฎหมายของประเทศ และไม่เห็นด้วยกับขบวนการเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การกระทบต่อ 2 เงื่อนไขที่จะทำให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศจุดยืนไปแล้ว" แถลงการณ์ระบุ

ส่วนกรณีอื่นๆ เช่นการทุจริตคอร์รัปชั่น และการที่จะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดน สูญเสียอธิปไตย และสูญเสียแหล่งพลังงานของชาติ ตลอดจนการรักษาสิทธิของประชาชนนั้น พันธมิตรฯ จะใช้การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแจ้งให้ประชาชนหรือองค์กรที่มีหน้าที่ได้ทราบและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ผนึกกำลังร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับขบวนการอันฉ้อฉลของนักการเมือง โดยให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของศาลซึ่งกระทำภายใต้พระปรมาภิไธยและทหารซึ่งอยู่ภายใต้จอมทัพไทยเป็นผู้ตัดสินใจอนาคตของชาติต่อไป

ทั้งนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ดำเนินการโดยใช้กระบวนการทางกฎหมายแล้วหลายกรณี ดังเช่น การยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนการเลือกตั้งที่ผ่านมา การยื่นคำร้องต่อ กกต.เพื่อให้ยุบพรรคการเมืองที่สัญญาว่าจะให้การฟ้องเรื่องให้เพิกถอนบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาทั้ง 3 ฉบับ การฟ้องเพื่อขอให้เพิกถอนแปรรูป บมจ.ปตท.(PTT) ฯลฯ

"จึงถือว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์แล้ว และจะต่อสู้ต่อไปจนถึงที่สุดในทุกกรณีไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไรก็ตาม" คำแถลงการณ์ ระบุ

อย่างไรก็ดี พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขอสนับสนุนแนวทางการถอดถอนหรือการดำเนินคดีต่ออัยการสูงสุดกรณีที่ไม่ฎีกาคดีการหลีกเลี่ยงภาษีหุ้นของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ และพี่ชาย ทั้งที่คดีดังกล่าวมีคำพิพากษาที่ขัดแย้งกันระหว่างศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ อีกทั้งยังปรากฏบันทึกความคิดเห็นแย้งจากประธานศาลอุทธรณ์ในคำพิพากษาขององค์คณะศาลอุทธรณ์ดังกล่าว

ดังนั้นการที่อัยการสูงสุดไม่ฎีกาให้ถึงที่สุด ย่อมเป็นที่สงสัยของประชาชนได้ว่าอัยการสูงสุดไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติและช่วยเหลือคนในครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์หรือไม่ ทั้งนี้การดำเนินคดีอาญาและการถอดถอนอัยการสูงสุดจึงถือเป็นมาตรการลงโทษที่สมควรแก่เหตุเพื่อป้องกันมิให้ระบบกระบวนการยุติธรรมขาดความน่าเชื่อถือล่มสลาย อันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของกลียุคและความรุนแรงต่อไปในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ