
แม้จะมีคำยืนยันจากนายกรัฐมนตรีว่า "ยังไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี" แต่สถานการณ์การเมืองยังสะท้อนภาพสวนทางกัน เมื่อเสถียรภาพภายในรัฐบาลเริ่มสั่นคลอน มีการเขย่าเก้าอี้พรรคสำคัญร่วมรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย จากศึกเลือกตั้งท้องถิ่น คดีฮั้ว สว. จนถึงความขัดแย้งเรื่องกฎหมายกาสิโน และการแก้รัฐธรรมนูญ
รวมไปถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ จากกรณีของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน แจกถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม มีสติกเกอร์ติดรูปภาพหราบนถุงยังชีพ จนกลายเป็นประเด็นร้อนทำให้มีผู้ยื่นร้องตรวจสอบจริยธรรม
ขณะที่พรรคกล้าธรรม ที่กำลังเนื้อหอมหลังจากชนะเลือกตั้งซ่อมในเขตนครศรีธรรมราช เขต 8 พร้อมประกาศเดินหน้าลุยสนามระดับประเทศ ไม่ใช่เพียงภาคใต้เท่านั้น โดยแย้มว่าจะมี สส.จากพรรคอื่นทยอยย้ายเข้ามาร่วมงานในเร็วๆ นี้
นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองว่า การที่พรรคภูมิใจไทยเป็นเป้าในรอบนี้ หรือที่ผ่าน ๆ มา เพราะพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคใหญ่ในระดับสร้างความกังวลใจให้พรรคเพื่อไทยได้ และเป็นพรรคที่มีบารมีและเครื่องมืออื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความกังวลได้ ในบรรดาพรรคร่วมด้วยกันถือว่ามีอำนาจต่อรองสูงกว่าพรรคอื่น
แต่พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยในภาพใหญ่ยังสลัดออกจากกันตอนนี้ไม่ได้ การเขี่ยภูมิใจไทยมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เพราะหากสลัดกันตอนนี้ คงต้องนับถอยหลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้งไม่เกินภายใน 1 ปี
ตอนนี้ภาพที่เกิดขึ้นเป็นการงัดข้อประลองกำลังกัน เช่น กรณีคดีฮั้วเลือก สว.ถือเป็นเกมที่ "แดง" กับ "น้ำเงิน" มาใช้ต่อรองกัน อะไรที่ "แดง" กด "น้ำเงิน" ได้ก็จะหยิบขึ้นมาใช้ ในสภาวะที่ "น้ำเงิน" ออกตัวแรงกับสิ่งที่ "แดง" ผลักดัน เพื่อดึงภูมิใจไทยกลับมาเจรจาและต้องยอมด้วย ไม่ใช่เจรจาแบบที่ภูมิใจไทยได้เปรียบ
อย่างไรก็ตาม แม้ต่อให้ไม่มีพรรคภูมิใจไทยแล้ว พรรคเพื่อไทยก็คงจะเสนอกฏหมายที่มีความเสี่ยง อย่าง "เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์" ไม่ได้ง่าย ๆ อยู่ดี เพราะจะเจอพรรคการเมืองอื่นมาต่อรองแทน นั่นหมายความว่า จากที่เคยต่อรองพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียว กลายเป็นต้องต่อรองกับพรรคอื่น ๆ ด้วย ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ เหมือน "หนีเสือปะจระเข้"
"ยังจำเป็นตัองอยู่ครบเทอม แม้ทางเลือกยังไม่เยอะ เพราะว่าความเชื่อมั่น ความสามารถในการบริหารได้แค่นี้ ปล่อยให้เลือกตั้งไปคุณก็แพ้เละ ทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลจะเอาอะไรไปสู้ ในเชิงกระแสคนจะฝากความหวังกับพรรคไหน คนยิ่งอยากเปลี่ยนเพราะพรรคร่วมแต่ละพรรคบริหารประเทศได้แค่นี้ ไปเสี่ยงกับอีกพรรคดีกว่า มันจะหนัก มันต้องทู่ซี้ไปจนกว่าในพรรคร่วมฯ พรรคใดพรรคหนึ่งจะพอใช้ได้ พอฝากความหวังได้"นายสติธร กล่าว
ส่วนพรรคอื่น ๆ เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ มีปัญหาเก้าอี้ร้อน คล้ายๆ เพื่อไทย ด้วยความที่พรรคไม่ได้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จโดยใครคนใดคนหนึ่ง เพราะมีหลายกลุ่มหลายก๊วนมารวมตัวกัน จึงมีระบบคิวอยู่กลาย ๆ แต่อาจจะคิวยาวหน่อย
กระแสการปรับ ครม.ในช่วงนี้เป็นช่วงนี้เป็นภาวะฝุ่นตลบ ต่างฝ่ายต่างมีความหวัง พูดง่าย ๆ คนที่อยากเข้ามาใน ครม.ก็เดินเกมเต็มที่เพื่อแซะคนที่อยู่ในตำแหน่งออกไป ส่วนคนที่อยู่ใน ครม.ก็ต้องเดินเกมเพื่อรักษาเก้าอี้ไว้
ในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน คนที่อยากสอดแทรกเข้ามาในจังหวะแบบนี้ก็เลยเดินเกมเร็ว เช่น พรรคกล้าธรรม เพราะพรรคแยกตัวออกมาจากพรรคพลังประชารัฐมาเป็นพรรคใหม่ ภายใต้การนำของ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และเป็นพรรคที่โตวันโตคืนเหมือนกัน เสนอตัวเป็นพรรคทางเลือก เป็นพรรคสาขาของเพื่อไทย แต่ไม่รวมพรรค เพราะการแยกอยู่แบบนี้ดีกว่า ต่อรองได้ดีกว่า เดินเกมได้คล่องตัวกว่า แต่สำคัญจะเดินเกมได้ดีได้คล่องต้องอยู่ในครม.
"จุดเริ่มต้นมาจาก 2 เก้าอี้ วันนี้อยากขยายตัวออก และจะสถาปนาตัวเองเป็นพรรคตัวแปรใหม่แทนที่ภูมิใจไทย มันเลยเกิดสูตรประเภทเอาภูมิใจไทยออก เรายังเป็นรัฐบาลได้ คือ มีพรรคที่พยายามพลิกตัวเองขึ้นมาเป็นพรรคตัวแปรใหม่"นายสติธร กล่าว
นายสติธร มองว่า ปรับ ครม.รอบนี้ นายกรัฐมนตรีน่าจะเลือกปรับกันเองภายในพรรคเพื่อไทย และน่าปรับช่วงกลางเดือนพฤษภาคมไปแล้ว หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) และเชื่อว่าหากมีการปรับ ครม.เกิดขึ้น จะช่วยให้ฝุ่นตลบภายในพรรคตัวเองจะสงบไปอย่าง ๆ น้อยอีก 6 เดือน
มองว่า การปรับรอบนี้เป็นเพียงการปรับเล็ก เพราะสุดท้ายจะเกลี่ยกันไปมา และหลัก ๆ จะปรับในพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์รัฐบาลที่เจอสถานการณ์เศรษฐกิจรุมเร้าจนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ น่าจะเป็นแรงกดดันสำคัญให้ต้องมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเพื่อเรียกความเชื่อมั่นคืนกลับมา ซึ่งจะเข้าทางกับที่นายกรัฐมนตรี ได้บอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า "ความจริงแล้วใด ๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ไม่ว่าตำแหน่งทุกอย่างหรือแม้แต่ตำแหน่งของนายกฯ ก็เช่นกัน" เหมือนส่งสัญญาณให้รัฐมนตรีทุกคน "ทำใจ" หากเกิดอะไรขึ้น