ศาลฯ ลดให้ สั่ง "ยิ่งลักษณ์" ชดใช้คดีจำนำข้าวแค่ 50% เป็นเงิน 10,028 ลบ.ฐานประมาทเลินเล่อ

ข่าวการเมือง Thursday May 22, 2025 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งแก้คำพิพากษาของศาลปกครองกลางชั้นต้นที่ให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงการคลัง ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว

โดยคำสั่งศาลฯ วันนี้ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้สินไหมทดแทนความเสียหายในการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) เป็นเงินจำนวน 10,028 ล้านบาท หรือครึ่งหนึ่งของความเสียหาย 20,057 ล้านบาท เนื่องมาจากการประมาทเลินเล่อ ไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของหน่วยงานตรวจสอบ อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

ศาลเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) รู้ปัญหาการทุจริตแล้วแต่ไม่ได้มีการติดตามกำกับดูแล ยังคงละเว้น เพิกเฉย ละเลยไม่ติดตามหรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานผลการดำเนินงานตรวจสอบเพื่อที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดความเสียหาย

โดยวิสัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ย่อมเล็งเห็นได้ว่า ควรจะพิจารณาข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ ที่ปรากฏตามหนังสือทักท้วงของหน่วยตรวจสอบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นตามที่ได้รับรายงานหรือไม่ หรือติดตามดูแลการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบ G to G อย่างใส่ใจ แต่กลับเพิกเฉยหรือละเลยจนเกิดการทุจริตขึ้นในขั้นตอนการระบายข้าว ส่งผลให้มีปัญหาระบายข้าวไม่ทันต้องเก็บข้าวในคลังเป็นเวลานานจนข้าวเสื่อมคุณภาพและสูญเสีย อีกทั้งไม่คำนึงถึงข้อทักท้วงและข้อเสนอของหน่วยงานตรวจสอบโครงการ

พฤติการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว เกิดจากการแอบอ้างทำสัญญาซื้อขายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาด แล้วหาประโยชน์ทับซ้อนโดยทุจริตจากข้าวส่วนต่างราคา จำนวน 4 ฉบับ มีความเสียหาย 20,057 ล้านบาท

และเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รู้ปัญหาทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว กลับไม่ตรวจสอบ ติดตาม หรือสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพียงแต่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบและดำเนินการต่อไป แล้วรอรายงานจากเจ้าหน้าที่ เมื่อได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีการทุจริต ก็เชื่อรายงานนั้น ทั้งที่แตกต่างจากหน่วยงานตรวจสอบอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อความเสียหายจากการระบายข้าวแบบ G to G เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายคน และเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธาน กขช.ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ สมควรกำหนดสัดส่วนความรับผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้รับผิดในอัตรา 50% ของความเสียหายตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว คิดเป็นเงินประมาณ 10,028 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังให้เพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการใด ๆ ของกรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี ที่มีคำสั่ง ประกาศหรือการดำเนินการใด ๆ ในการยึดอายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เฉพาะในส่วนที่เกินกว่าจำนวน 10,028บาท

ขณะที่นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า การที่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแตกต่างจากคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น คือ ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดในขั้นตอนการระบายข้าวแบบ G to G เพราะเห็นว่ามีการทุจริต แต่อย่าลืมว่าขั้นตอนการระบายข้าวนั้นอยู่ในขั้นตอนของฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งมีคณะอนุกรรมการการระบายข้าวเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งขณะนั้นมี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน

อย่างไรก็ตาม ศาลฯ พิพากษาให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดชอบกว่า 1 หมื่นล้านบาท ถ้าจำได้เมื่อมีการรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. 57 มีข้าวคงเหลือในคลังประมาณ 18.9 ล้านตัน ในส่วนนี้คำสั่งของกระทรวงการคลังบอกว่าถ้าทางราชการขายข้าวได้ในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่ปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวคำนวณไว้ เมื่อ 22 พ.ค. 57 ก็สามารถนำมาหักทอนกับที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบได้

"ปัจจุบันข้าวจำนวนนี้ได้ขายไปหมดแล้วในรัฐบาลนี้ กิโลกรัมละ 25 บาท ถ้าขายจริง ๆ จะได้เงินประมาณ 2.5 แสนล้านบาท และเมื่อนำมาหักทอนกันก็สามารถหักทอนกันได้กับเงินหมื่นล้านบาท ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจจะไม่ต้องชดใช้เลย อย่างไรก็ดี ในฐานะทนายความเห็นว่าการจำหน่ายข้าวส่วนนี้ถือว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งความจริงเราพยายามยื่นเข้าไปในคดีนี้แล้ว แต่การยื่นนั้นมันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว ศาลท่านจึงไม่ได้รับไว้ แต่ถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ ดังนั้นทีมทนายจะหารือกันว่าจะนำประเด็นนี้ไปขอพิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ เราก็จะดำเนินการในส่วนนี้จนถึงที่สุดเพื่อขอความเป็นธรรมให้อดีตนายกฯ" นายนรวิชญ์ กล่าว

ทั้งนี้จะต้องมีการยื่นขอพิจารณาคดีใหม่ภายใน 90 วัน ตามมาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

สำหรับทรัพย์สินที่ได้อายัดไว้แล้ว นายนรวิชญ์ กล่าวว่า ตอนนี้ทรัพย์ที่ยึดไปแล้วนั้นมีทั้งที่ยังอยู่ และที่ขายไปแล้ว ซึ่งส่วนที่เกินก็ต้องคืนแต่ไม่รู้ว่าเท่าไหร่ และไม่มีกำหนดว่าต้องคืนให้ภายในกี่วัน ต้องไปว่ากันในส่วนของการบังคับคดี ซึ่งเป็นเรื่องที่คู่ความจำต้องไปดำเนินการ เบื้องต้นคือกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลัก กรมบังคับคดีเป็นคนยึดตามคำสั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่ขอดูรายละเอียดก่อนว่าจะยื่นต่อกระทรวงการคลัง หรือกรมบังคับคดี




เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ