ปชป.ตั้งกระทู้สดถามความโปร่งใสรัฐบาลผ่าน พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เอื้อ"ทักษิณ"

ข่าวการเมือง Thursday November 17, 2011 13:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ตั้งกระทู้สด 3 ข้อ ถามรัฐบาลเกี่ยวกับความโปร่งใสของรัฐบาลในการผ่านร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ประกอบด้วย 1.ในการถวายหลักเกณฑ์และคำแนะนำเรื่องการออก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษนั้น ได้ตัดบัญชีลักษณะความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามความผิดออกหรือไม่

2.ในการแก้ไขบทมาตราที่ครอบคลุมถึงผู้รับประโยชน์นั้น ครอบคลุมผู้ต้องโทษแต่หนีคดีที่ไม่ยอมมารับโทษหรือไม่ และมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่

3.ในเมื่อปีนี้เป็นปีมหามงคล รัฐบาลต้องพึงถวายสิ่งดีๆ เป็นพระราชกุศล แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นี้จะก่อให้เกิดกระแสขัดแย้งขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวาง เหมือนจุดไฟกลางน้ำท่วม และทำให้เกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำนี้เป็นสิ่งดีๆ จริงหรือไม่ และการช่วยคนหนีคดีให้ไม่ต้องรับโทษ รัฐบาลบังควรกระทำเรื่องเช่นนี้หรือไม่

"ถ้าไปตัดเรื่องกฎหมาย ป.ป.ช.ออก ก็แปลว่าต่อไปนี้ใครที่โกง รวยแล้วโกง โกงแล้วผิด ผิดแล้วถูกตัดสิน มีอำนาจก็ออกกฎหมายมาลบล้างความผิดให้ตัวเองได้ คุกก็มีไว้ขังคนจน นี่เป็นการทำลายหลักนิติธรรม นิติรัฐ นี่ต่างหากคือหลักความโปร่งใส และรัฐพึงต้องมีความโปร่งใสชี้แจงเรื่องเช่นนี้ได้" นายสาทิตย์ กล่าว

พร้อมระบุว่า เรื่องนี้มีอะไรที่ลึกลับซับซ้อนที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ในหลักเกณฑ์ของการถวายคำแนะนำ ถึงขนาดที่หากพูดแล้วอาจจะเกิดกระแสบางอย่าง และเรื่องนี้มีอะไรเกี่ยวข้องในเชิงผลประโยชน์ทับซ้อนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ จนถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรีต้องวางแผนไม่เข้าประชุมคณะรัฐมนตรี

ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ชี้แจงโดยยืนยันว่า เหตุที่ต้องทำหน้าที่ตอบกระทู้แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีหนีการตอบกระทู้สดวันนี้ แต่เป็นเพราะติดภารกิจต้องเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับการออก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษนั้น ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ยกร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ แต่มีการนำเสนอจากหลายหน่วยงานที่เป็นคณะทำงานที่รัฐบาลชุดที่แล้วตั้งขึ้น และเสนอผ่านมาทาง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม และนำเสนอเข้ามายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกที แต่เหตุที่มีการประชุมเป็นเรื่องลับ เพราะเรื่องยังไม่แล้วเสร็จจึงยังไม่สามารถเผยแพร่ได้ และเรื่องนี้ต้องส่งความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่ได้มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าการออกกฎหมายจะต้องลอกเลียนแบบรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ที่สำคัญคือต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย การจะอยู่ในหลักเกณฑ์เดิมหรือไม่นั้นเป็นสิทธิที่รัฐบาลชุดนี้จะตัดสินใจ อย่างไรก็ดี หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ จะมีผู้ได้รับประโยชน์ถึง 26,000 คน ที่ได้รับพระมหากรุณาที่คุณพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้ ดังนั้นไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องดำเนินการเพื่อบุคคลเพียงคนเดียว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ