โฆษกรัฐบาลวอนปชป.เลิกเล่นการเมืองปมส่งตีความพ.ร.ก.หวั่นทำประเทศเสียหาย

ข่าวการเมือง Friday January 13, 2012 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เลิกเล่นการเมืองเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ กรณีเตรียมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เนื่องจากพรรค ปชป.เห็นว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน

"เป็นสิทธิของ ส.ส.ที่สามารถทำได้ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย เพียงแต่ขอให้การใช้สิทธิของท่านนั้นเป็นการใช้สิทธิด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่เป็นการเล่นการเมืองเพื่อหวังประวิงเวลาเท่านั้น ยิ่งท่านประวิงเวลามากเท่าใด ความเสียหายก็อาจเกิดมากขึ้นเท่านั้น และนั่นก็เท่ากับเป็นการลดทอนโอกาสในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าของประชาชน" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

นางฐิติมา กล่าวว่า เมื่อครั้งที่พรรค ปชป.เป็นรัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 หรืองบไทยเข้มแข็ง 4 แสนล้านบาท ด้วยเหตุผลว่าต้องรีบออกเป็น พ.ร.ก.เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งช่วงนั้นหลายคนก็สงสัยเช่นเดียวกันว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

แต่ขณะนี้ประเทศไทยเกิดปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากเพิ่งผ่านมหาวิกฤติอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ มีพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตภัยพิบัติมากถึง 65 จังหวัด มีบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา และโรงงานอุตสาหกรรมเสียหายมากมาย มีผู้เสียชีวิตกว่า 800 ราย ความเสียหายครั้งนี้ของประเทศไทยมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม อิเลกโทรนิกส์ และ อุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งธนาคารโลกประเมินค่าความเสียหายรวมทั้งประเทศไว้ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท และแม้กระทั่ง ณ ขณะนี้ก็ยังมีน้ำท่วมทุ่งอยู่ในบางจังหวัดของภาคกลางอยู่ และภาคใต้ก็เพิ่งเกิดปัญหาอุทกภัย

นอกจากนั้นอีก 5 เดือนข้างหน้าก็จะเข้าสู่ฤดูฝนอีกครั้ง หากปี 55 เกิดมีฝนตกพายุมาไม่ว่าจะมาน้อยกว่าหรือมากเท่าเดิมก็ตาม พวกเราจะมั่นใจได้อย่างไร หากไม่เตรียมการรับมือไว้ก่อน ไม่วางแผนใดๆ สำหรับรองรับอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นอีก การแก้ไขปัญหาของประเทศชาติในครั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมดำเนินการทั้งการวางระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อทั้งแก้ปัญหากับสิ่งที่มหาอุทกภัยได้ก่อให้เกิดขึ้นและการเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ จึงต้องใช้เงินทุนมหาศาล และเงินทุนนั้นก็มาได้จากแหล่งเงินงบประมาณชาติ เงินกู้ หรือเงินร่วมลงทุนภาคเอกชน

"ทั้ง 3 แหล่งเงินนั้นล้วนแล้วแต่ที่รัฐบาลจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น การที่รัฐบาลตัดสินใจโอนภาระการชำระหนี้ไปให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นผู้บริหารจัดการทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยออกเป็น พ.ร.ก.นั้นก็เพราะเมื่อรัฐบาลไม่ต้องนำเงินภาษีอากรของประชาชนมาจ่ายหนี้ดอกเบี้ย 65,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งเป็นหนี้ที่ประชาชนไม่ได้เป็นผู้ก่อและเป็นหนี้ที่ไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อไรแล้วนั้น รัฐบาลก็สามารถวางแผนนำเงินไปพัฒนาชาติได้อีกหลายเรื่อง" นางฐิติมา กล่าว

อีกทั้งการออกกฎหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีอำนาจโอนเงินนำส่งจากสถาบันการเงินในกรอบสูงสุดไม่เกิน 1% ที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก ก็ช่วยให้ ธปท.มีรายได้เข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งจะทำให้ฐานะของกองทุนฟื้นฟูฯดีขึ้นทันที จะมีผลต่อการลดหนี้สาธารณะได้อย่างแน่นอนและสามารถชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้ทันทีเช่นเดียวกัน แน่นอนส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในสถานะการคลังของประเทศ รวมทั้งหนี้ก้อนใหญ่ 1.14 ล้านล้านบาทก็มีโอกาสจบสิ้นเร็วขึ้นด้วย ผู้ให้กู้หรือผู้ที่จะร่วมทุนกับรัฐบาลทั้งหลายก็จะมั่นใจในแผนงานของรัฐบาลทั้งเรื่องการแก้ปัญหาน้ำและการสร้างอนาคตประเทศ

นอกจากนั้นรัฐบาลขอยืนยันว่าการใช้จ่ายจากแหล่งเงินทั้ง 3 แหล่งนั้นอยู่บนพื้นฐานวินัยทางการเงินการคลัง สามารถตรวจสอบได้และเป็นการใช้เงินไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ