สถาบันพระปกเกล้ายันไม่ทบทวนข้อเสนอปรองดองโยน กมธ.หารือเอง

ข่าวการเมือง Friday March 16, 2012 13:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า แถลงรายงานวิจัยโครงการศึกษาการสร้างความปรองดองแห่งชาติว่าได้ศึกษาถึงรากเหง้าปัญหาความขัดแย้ง และได้สอบถามจากคู่ขัดแย้งในสังคม 47 ราย โดยมีข้อเสนอที่จะทำให้สังคมเข้าสู่ภาวะปกติรวม 6 ประเด็น

ทั้งนี้ มี 4 ประเด็นที่เป็นข้อเสนอระยะสั้น คือ 1.การสร้างความปรองดองโดยค้นหาความจริง รัฐบาลต้องสนับสนุนการทำงานของ คอป. ให้ค้นหาความจริงโดยเร็วแต่ไม่ใช่การหาตัวคนผิด

2.การนำสังคมไปสู่ภาวะปกติ คือการให้อภัย ซึ่งหมายถึงการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มี 2 ทางเลือก คือออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดทุกประเภท หรือออกพ.ร.บ. นิรโทษกรรมเฉพาะคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยความผิดอาญาอื่นซึ่งแม้มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองจะไม่ได้รับการยกเว้น

3. เรียกความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม โดยต้องไปดูสิ่งที่คตส.ทำไว้ เพราะมักนำมาเป็นเหตุผลในการไม่ยอมรับ โดยมีข้อเสนอให้ดำเนินคดีตามปกติ โอนคดีทั้งหมดจาก คตส.ให้ ปปช.ดำเนินการใหม่/เพิกถอนผลทางกฎหมายที่คตส.ตรวจสอบ ใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ ไม่ขาดอายุความ และเพิกถอนผลทางกฎหมายที่ คตส.ทำ ไม่นำคดีระหว่างกระบวนการหรือตัดสินแล้วมาทำใหม่

4. ปรับปรุงประเด็นเรื่องการยุบพรรคการเมืองที่หลายฝ่ายเห็นด้วย และเป็นเรื่องเฉพาะหน้าเพื่อเรียกความเชื่อมั่น ส่วนข้อเสนอ 2 ประเด็นระยะยาว คือสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย และวางรากฐานประเทศแก้ไขในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม

นายวุฒิสาร กล่าวว่า การสร้างบรรยากาศปรองดอง 7 ประเด็น เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งรัฐบาลต้องมีเจตจำนงค์ชัดเจนว่า ต้องการสร้างความปรองดอง ห้สังคมเห็นปัญหาและอนาคตที่ดี รวมถึงต้องให้ความสำคัญเรื่องเยียวยาผู้สูญเสีย ทุกฝ่ายในสังคมที่เป็นตัวเร่งต้องยุติ ลดการกระทำหมิ่นเหม่ต่อสถาบัน สื่อมวลชนควรสนับสนุนแนวทางปรองดอง และเลิกความคิดเอาผิดคนทำรัฐประหารหรือคนในอดีต อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือกระบวนการเจรจาเพื่อให้ได้ข้อยุติ

นายวุฒิสาร กล่าวว่า ข้อสรุปเหล่านี้ไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้ายหรือนำไปทำได้ทันทีเพื่อนำไปสู่ของแนวทางปรองดองเพราะมีกระบวนการ แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้สังคมทราบว่าแนวทางปรองดองเกิดขึ้นได้จริง แต่ขณะนี้ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิไม่ตรงกัน และกระบวนการปรองดองยังไม่เกิดขึ้น จำเป็นต้องไปดูรายละเอียดของข้อเสนอเพิ่มเติม

ส่วนรายงานฉบับเต็มที่จะต้องส่งให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรคณะกรรมาธิการในวันนี้มีเหตุต้องล่าช้าไปเพราะปัญหาเรื่องเอกสาร ขณะที่ข้อเสนอนี้จะขยายไปสู่ส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคม เพื่อให้เกิดการยอมรับและมาเลือกแนวทางร่วมกัน ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้เสียงข้างมากเป็นคำตอบ เพราะอาจไม่ใช่คำตอบและอาจกลับไปสู่ปัญหาเดิมได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ