ส.พระปกเกล้าขอกมธ.ปรองดองอย่าอ้างอิงเสียงข้างมากในผลวิจัยผ่านนิรโทษกรรม

ข่าวการเมือง Friday March 23, 2012 12:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่าว่า วันนี้คณะผู้วิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติสถาบันพระปกเกล้า เตรียมยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ทบทวนกรณีการใช้เสียงข้างมากในการให้ความเห็นชอบข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า เนื่องจากผู้วิจัยไม่เห็นด้วยกับการใช้เสียงข้างมากตัดสิน เพราะขณะนี้ยังมีความขัดแย้งและจะไม่เกิดบรรยากาศของการปรองดองในสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งเกรงว่าจะเป็นสาเหตุของความขัดแย้งรอบใหม่ในอนาคต

โดยในหัวข้อการให้อภัยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ได้เห็นชอบทางเลือกที่ 1 คือ ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท ด้วยเสียงข้างมาก 23 เสียง ส่วนหัวข้อการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและเป็นการลดเงื่อนไขของข้อกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในส่วนของการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาโดยกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งกรรมาธิการฯ เห็นชอบ ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ด้วยเสียงข้างมาก 22 เสียง

นายวุฒิสาร กล่าวต่อว่า คณะผู้วิจัยไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการใช้เสียงข้างมากในการตัดสินดังกล่าวของกรรมาธิการฯ หรือของสภาผู้แทนราษฎร เพราะบรรยากาศปรองดองที่เป็นเงื่อนไขสำคัญยังไม่เกิดขึ้นในสังคม และเชื่อว่าการใช้เสียงข้างมากในการกำหนดแนวทางการสร้างความปรองดองจะเป็นเพียงการส้รางความยุติธรรมของผู้ชนะเท่านั้น ซึ่งรายงานวิจัยระบุว่า การยึดเสียงข้างมากโดยละเลยความเห็นที่แตกต่างเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงรอบใหม่ได้อีกในอนาคต อันขัดต่อเจตนารมณ์ของผู้วิจัย

นายวุฒิสาร กล่าวต่อว่า คณะผู้วิจัยได้ขอให้กรรมาธิการฯ พิจารณาตามข้อเสนอในส่วของการริเริ่มกระบวนการพูดคุยเสวนาทั่วประเทศ เพื่อให้ได้ข้อสรุปต่อการสร้างความปรองดองในชาติที่ทุกฝ่ายยอมรับในระดับที่สังคมเดินหน้าต่อไปได้ตามที่รายงานเสนอ โดยไม่ควรจำกัดเวลาและวาระการทำงานของกรรมาธิการ เพื่อให้ภารกิจต่อเนื่อง แต่หากคณะกรรมาธิการหรือสภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกข้อเสนอทางใดทางหนึ่งอย่างรวบรัดด้วยเสียงข้างมาก คณะผู้วิจัยจะขอถอนรายงานวิจัยที่เสนอเพื่อไม่ให้นำผลวิจัยไปใช้อ้างอิงเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการสร้างความปรองดองในชาติ

เมื่อถามถึงกรณีที่สถาบันพระปกเกล้าถูกกล่าวหาเป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้น นายวุฒิสาร ย้ำว่า สถาบันพระปกเกล้าระมัดระวังและต้องรับผิดชอบต่อผลการวิจัย แต่การวิจัยทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานต้องการให้ประเทศปรองดอง และขณะนี้ได้ขอให้กรรมาธิการฯทบทวน เพราะเกรงจะกลายเป็นปัญหา ส่วนข้อเสนอจะสำเร็จหรือไม่นั้นอยู่ที่การสร้างประสบการณ์ร่วมกัน กรรมาธิการฯ ต้องหาข้อยุติและทุกอย่างให้เป็นความร่วมกันในสังคมซึ่งคาดหวังให้กรรมาธิการรับฟังผู้วิจัย เพราะการลงมติเป็นการรวบรัด ถ้ารีบสรุปเกินไปจะกลายเป็นอกาสให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ในสังคมได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ