(เพิ่มเติม) "ยุทธศักดิ์"เห็นใจ"บิ๊กบัง"ถูกกดดัน แนะหาคนกลางประสานปรองดอง

ข่าวการเมือง Wednesday March 28, 2012 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทางออกในเรื่องสร้างความปรองดองจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน โดยอยากให้ทุกคนนึกถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ และอนาคตของประเทศ ยอมรับว่าการสร้างความปรองดองจำเป็นต้องมีคนกลางเข้ามาพูดคุยหรือประสานกับแต่ละฝ่าย ซึ่งเรื่องการสร้างความปรองดองนั้น คงจะแล้วเสร็จภายในวันเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยเวลาและคงจะดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ห่วงพล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน ที่ถูกส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลรุมสอบถามในที่ประชุมรัฐสภา เพราะเชื่อว่าท่านมีความอดทนอย่างมาก แต่ก็ยอมรับว่าอาจมีผลกระทบทางจิตใจบ้าง

นอกจากนี้ มองว่าเรื่องที่เกิดขึ้น ทุกฝ่ายต้องหาแนวทางในการพูดคุย ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะถือเป็นประเทศล้าหลังในกลุ่มอาเซียน ยิ่งถ้าไม่มีความปรองดองเกิดขึ้นจะยิ่งทำให้ไทยล้าหลังยิ่งขึ้น

"เรื่องการสร้างความปรองดอง พูดแล้วจะเสร็จในวันเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ต้องค่อยๆ พูดคุยกัน ความขัดแย้งเกิดขึ้นมานาน เป็นบาดแผล ซึ่งการสมานแผลต้องใช้เวลา ต้องพูดคุยเจรจากัน...ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความนุ่มนวล ความอดทน และต้องใช้เวลา และเชื่อว่าการที่พล.อ.สนธิเร่งผลักดันรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ไม่น่าจะมีส่วนช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้เดินทางกลับมาประเทศไทย แต่ต้องการให้คนในชาติเกิดความปรองดองมากกว่า" พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าว

ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์รุมล้อม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.พรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวานนี้ว่า เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากพล.อ.สนธิ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติเมื่อปี 2549 ยังยอมรับว่า การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นไปโดยไม่ชอบ แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับไม่ยอมให้เกิดความปรองดอง ด้วยการปฏิเสธสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับพรรคของตนเอง หากยังทำเช่นนี้สมัยหน้าพรรคเพื่อไทยคงหาเสียงง่ายขึ้น และประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน

"การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น เพราะลำพังแค่ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ ซึ่งเป็นนามธรรม ไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่ความปรองดองได้" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอให้นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเมื่อปี 2549 เช่นเดียวกับการออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่ 66/2523 นั้น เป็นข้อเสนอที่ดี แต่มติคณะรัฐมนตรีฉบับนี้ เป็นการนิรโทษกรรมคดีที่ศาลยังไม่ตัดสิน ซึ่งแตกต่างจากคดีที่เกิดจากการรัฐประหารที่เกิดจาก คตส. ซึ่งส่วนหนึ่งศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว

"ส่วนตัวจึงเห็นว่า การนิรโทษกรรมควรออกเป็นพระราชบัญญัติโดยใช้เสียงข้างมากในสภา และพรรคประชาธิปัตย์ก็ควรเคารพ เพราะหากพรรคเพื่อไทยทำไม่ถูกต้อง การเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนก็จะไม่เลือกพรรคเพื่อไทยเอง"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ