นายกฯ กำหนด 4 แผนเชิงรุกป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่น,ป.ป.ช.แนะตั้งงบฯเฉพาะ

ข่าวการเมือง Friday May 18, 2012 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ"ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น" พร้อมประกาศยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และมอบนโยบายแก่ส่วนราชการในการพัฒนาองค์การเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ

วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับทราบนโยบายยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ให้เกิดความตระหนัก ตื่นตัวและเห็นความสำคัญต่อปัญหาและร่วมกันหาทางออกในการสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในหน่วยงานราชการ ทั้งยังมุ่งหวังให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุสัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดแผนงานเชิงรุกในยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่จะต้องดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ 1) การปลุกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักรู้ 2) การพัฒนาองค์การ 3) การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม 4) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย 5) การตรวจสอบ เฝ้าระวังเชิงรุก 6) การปราบปรามที่จริงจังและการลงโทษที่เข้มงวด

จากยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวรัฐบาลได้นำมาปรับและกำหนดเป็นแผนงานเชิงรุกของรัฐบาล ที่เร่งด่วน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและมีทิศทางในการขับเคลื่อนที่ชัดเจน ภายใน 1 ปีข้างหน้า มี 4 แนวทาง คือ 1) การปลุกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักรู้ร่วมกัน โดยรัฐบาลดำเนินการสร้างข้าราชการไทยหัวใจสีขาว มอบรางวัลเชิดชูเกียรติ กำหนดบัญชีรายชื่อข้าราชการที่มีความซื่อสัตย์สุจริตหรือมีผลงานต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน จัดทำตราสัญลักษณ์แสดงการอาสาต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมทั้งจัดทำป้ายสัญลักษณ์ประกาศเจตนารมณ์ที่จะไม่รับสินบนหรือคอร์รัปชัน เพื่อนำไปตั้งไว้ที่จุดบริการประชาชน

2)การพัฒนาองค์การ โดยรัฐบาลจะส่งเสริมให้ส่วนราชการริเริ่มจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการของตนเอง และให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อเป็นกลไกในการบูรณาการและขับเคลื่อนแผนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน

3) การตรวจสอบ เฝ้าระวังเชิงรุก จัดตั้งศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยบูรณาการด้านการตรวจสอบ รับแจ้งเบาะแสและเรื่องร้องเรียน ป้องกัน ปราบปราม อย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร ณ จุดเดียว และจะเชื่อมโยงการรายงานทั้งหมดไปที่ศูนย์บัญชาการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ซึ่งจะสามารถตรวจสอบ ติดตามความก้าวหน้าได้ตลอดเวลา

และ 4) การปราบปรามที่จริงจังและการลงโทษที่เข้มงวด เป็นการประกาศลงโทษผู้กระทำผิดการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐและประกาศลงโทษให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อสร้างความตื่นตัวและเกรงกลัวต่อการกระทำการทุจริต ควบคู่กับการให้โอกาสแก่ผู้ที่ต้องการกลับตัวอย่างแท้จริง

การดำเนินการใน 4 แผนเชิงรุกดังกล่าวจะเป็นการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการที่จะผนึกกำลังปราบปรามและป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันหน่วยราชการทุกภาคส่วนจะร่วมกันพัฒนาหน่วยงานของตนเองให้สะอาดโปร่งใส ภายใต้แนวคิด " 1 หน่วยงาน 1 ข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ (clean Intiative)" ซึ่งจะได้นวัตกรรมในการสร้างความโปร่งใสจาก 149 ส่วนราชการ 76 จังหวัด รวมทั้งหมด 235 นวัตกรรม อันจะเป็นจุดเริ่มต้นและขยายผลการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นต่อไปในอนาคต

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความหวังว่าการประกาศยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะทำให้งานทั้งหมดแสดงผลออกมาเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเจริญและความมั่นคงให้กับประเทศชาติและประชาชนชาวไทยต่อไป

ด้านนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “แนวทางการขับเคบื่อนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต”ว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งปัจจัยความสำเร็จของการต่อสู้นั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันผลักดัน

ขณะที่ป.ป.ช.ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในการป้องกันและปรามการทุจริต โดยมี 4 เรื่อง คือ 1.ให้ความสำคัญต่องานป้องกันและปลูกฝังจิตสำนึก คุณธรรมจริยธรรมในทุกภาคส่วน 2.การปราบปรามทุจริตต้องรวมพลังแผ่นดินใช้ทุกภาคส่วนร่วมมือ 3.เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้หน่วยงานในการต่อต้านทุจริต โดยเรื่องนี้นั้น ป.ป.ช.ก็ได้ปฏิรูปกฎหมายในการปราบปรามทุจริตแล้ว และ 4.การสร้างบุคลากรมืออาชีพป้องกันและปราบปรามการทุจริตซึ่งขณะนี้การทุจริตมีความซับซ้อน บุคลากรจึงต้องมีความรู้

อย่างไรก็ตาม การดำเนินยุทธศาตร์ทั้ง 4 ด้าน ยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติที่ยังต้องแก้ไข เพราะทำให้ขับเคลื่อนไม่ได้ โดยรัฐบาลต้องให้ความสำคัญและจริงจังในการป้องกันปราบปรามทุจริต โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนงบประมาณของภาครัฐก็ยังไม่ชัดเจน เพราะเป็นงบประมาณยังไม่ได้ระบุเรื่องการปราบปรามการทุจริต แต่เป็นงบประมาณเกลี่ยของแต่ละหน่วยงาน ทำให้ต้องใช้งบประมาณของตัวเองก่อน

นอกจากนี้ ปัจจุบันการทุจริตคอร์รัปชั่นมีความซับซ้อนและรุนแรง ขยายวงกว้างในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญต่อการกระจายตัวของงบประมาณในท้องที่ต่างๆอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะท้องที่ที่มีปัญหาความรุนแรงในการทุจริต ขณะที่ภาคเอกชนก็มีการรวมตัวกันในการต่อต้านทุจริตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างก็เป็นเรื่องสำคัญและเป็นช่องทางที่ทำให้มีการทุจริตอย่างมาก แต่ก็มีการป้องกันอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว

อนึ่ง ในการประชุมครั้งนี้ มีคณะรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงระดับกรมและจังหวัด ผู้แทนองค์กรอิสระผู้แทนภาคท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนภาคสื่อมวลชน คณะผู้แทนทางการทูตในประเทศไทย ผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ และผู้แทนหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทยเข้าร่วมประชุม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ