นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ระบุว่า เหตุการณ์ความวุ่นวายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้(30 พ.ค.) จะไม่เกิดขึ้นหากนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดและเป็นกลางโดยไม่ปฏิบัติตามใบสั่งจากใคร
ทั้งนี้มองว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเป็นผลจากที่นายสมศักดิ์ ไม่สามารถชี้แจงและให้เหตุผลที่กระจ่างได้ว่าเหตุใดจึงต้องขอเลื่อนการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ ขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วน และเหตุใด ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ จึงไม่ถือเป็น พ.ร.บ.ทางการเงินตามที่ส.ส.ฝ่ายค้านได้ทักท้วง ในทางกลับกันนายสมศักดิ์ กลับดื้อดึงและใช้อำนาจความเป็นประธานสภาฯ ว่าได้ใช้ดุลยพินิจตัดสินแล้วว่าไม่ถือเป็น พ.ร.บ.ทางการเงิน โดยไม่ฟังเสียงท้วงติงของที่ประชุม
"หากประธานไม่ตุกติกกับคำสั่งของคนแดนไกล ความจริงประธานสภาฯ สามารถชี้แจงได้ว่าที่เร่งด่วนเพราะอะไร ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจมาบีบบังคับ" นายสุเทพ ระบุนายสุเทพ กล่าวต่อว่า ตามที่วันนี้ประธานสภาฯ จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมาธิการทั้ง 35 คณะ เพื่อพิจารณาว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ว่าเข้าข่ายเป็น พ.ร.บ.ทางการเงินหรือไม่นั้น ประเด็นนี้ก็เป็นข้อเสนอที่ฝ่ายค้านได้หยิบยกขึ้นมาเมื่อวาน ซึ่งฝ่ายค้านพร้อมเคารพกฎกติกาไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรตราบใดที่ทุกอย่างดำเนินไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ แม้จะทราบดีว่ากรรมาธิการทั้ง 35 คณะนั้น จะมีประธานกรรมาธิการที่เป็นฝ่ายรัฐบาลถึง 19 คณะก็ตาม ซึ่งฝ่ายค้านจะเดินหน้าต่อสู้ในเรื่องนี้ต่อไป
นายสุเทพ ไม่ขอคาดเดาผลที่จะออกมาล่วงหน้า เพราะเห็นว่าประธานคณะกรรมาธิการอาจจะมีเหตุผลมากกว่าประธานสภาฯ และยอมรับในเหตุผลมากกว่าก็เป็นได้ แต่หากคณะกรรมาธิการทั้ง 35 คณะมีมติเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ไม่เข้าข่ายเป็น พ.ร.บ.ทางการเงินนั้น ทางฝ่ายค้านก็คงจะต้องชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ เพื่อให้เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้ที่จะต้องพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เพราะรัฐบาลยังมีปัญหาสำคัญอื่นๆ ที่ต้องเร่งพิจารณามากกว่า เช่น การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในปี 54 ตลอดจนปัญหาราคาสินค้าแพง
นอกจากนี้ ฝ่ายค้านจะชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลมีการเตรียมการเร่งรัดแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมตามมา ซึ่งฝ่ายค้านจะอภิปรายให้ประชาชนเห็นว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ชอบด้วยหลักนิติรัฐและนิติธรรม