(เพิ่มเติม) ตุลาการฯ ยกคำร้องคัดค้านแก้รธน.291 หลังวินิจฉัยไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

ข่าวการเมือง Friday July 13, 2012 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติยกคำร้องทั้ง 5 ที่ผู้ร้องระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยตุลาการฯ วินิจฉัยว่ายังไม่เห็นข้อบ่งชี้ว่าจะนำไปสู่แนวทางดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ศาลฯ เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ผ่านการทำประชามติของประชาชน ดังนั้น จึงควรทำประชามติเพื่อขอความเห็นจากประชาชนว่าควรมีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ หรืออาจจะทำการแก้ไขรายมาตรา

ทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ นำโดยนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ นายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า การพิจารณาคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ได้ตั้งไว้ 4 ประเด็น คือ ประเด็น 1.ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้หรือไม่ ซึ่งผลออกมามีมติ 7 ต่อ 1 เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องทั้ง 5 ไว้พิจารณา

ส่วนประเด็นที่ 2.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 สามารถยกเลิกหรือแก้ไขได้ทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งศาลเห็นว่าถึงแม้อำนาจในการพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะไม่สอดคล้องกับที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ผ่านขั้นตอนการทำประชามติจากประชาชน

ดังนั้น ศาลจึงมีข้อแนะนำว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็ควรจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน แต่หากจะแก้ไขเป็นรายมาตราก็สามารถทำได้ เพราะเป็นเรื่องที่ในอดีตเคยทำมาอยู่แล้ว ส่วนจะทำหรือไม่เป็นอำนาจของรัฐสภา ศาลไม่อาจก้าวล่วง แต่หากเดินหน้าต่อไปถึงจุดหนึ่งแล้วพบว่ามีประเด็นหนึ่งประเด็นใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีผู้เห็นว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็สามารถนำเรื่องกลับมาให้ศาลพิจารณาได้อีกครั้ง

สำหรับประเด็นที่ 3 ที่คำร้องระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือให้ได้มา ซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลเห็นว่าไม่เป็นการล้มล้างการปกครองตามที่มีผู้กล่าวอ้าง เพราะข้ออ้างเป็นเพียงการคาดการณ์ห่างไกลจากเหตุการณ์ที่กล่าวอ้าง ศาลฯ จึงมีมติให้ยกคำร้อง

และศาลยังเห็นว่าไม่จำเป็นต้องพิจารณาในประเด็นที่ 4 ว่าด้วยเรื่องการยุบพรรคการเมือง หรือตัดสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง ตามมาตรา 68 วรรคสามและวรรคท้ายหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ