สภาทนายฯวอนนิติราษฎร์หยุดให้ความเห็นจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยศาลออกมาชัดเจน

ข่าวการเมือง Tuesday July 17, 2012 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่ายนโยบายและแผนงาน รักษาการประธานกรรมการสำนักวิจัยและพัฒนากฎหมาย สภาทนายความ ออกแถลงการณ์สภาทนายความ ฉบับที่ 3/2555 เรียกร้องให้นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ยุติการแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะได้ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วนก่อน

สืบเนื่องจากนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ได้ออกแถลงการณ์ให้ความเห็นในลักษณะไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้เป็นไปตามระบอบรัฐธรรมนูญและหลักนิติรัฐประชาธิปไตย

แม้บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายใต้กรอบแห่งกฎหมายตามที่บัญญัติในมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ แต่ในฐานะนักกฎหมายการที่จะแสดงความคิดเห็นในทางวิชาการควรได้รับข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วนเป็นที่ยุติเสียก่อน จึงจะนำตัวบทกฎหมายมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุตินั้น หากข้อเท็จจริงนั้นไม่ถูกต้องครบถ้วนและไม่เป็นที่ยุติ ตัวบทกฎหมายที่นำมาปรับใช้นั้นย่อมคลาดเคลื่อนไปด้วย ทั้งนี้ตามหลักวิชาข้อเท็จจริงของวิชาชีพทนายความที่สั่งสมกันมา

"สภาทนายความเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยยังมิได้ตรวจสอบคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ยังมิได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมอาจก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้" เอกสารแถลงการณ์ ระบุ

สำหรับข้อเสนอให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญและจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นนั้น สภาทนายความเห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก และได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะรัฐมนตรีด้วย ซึ่งเท่ากับเสียงข้างมากของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญเป็นของพรรคการเมืองเสียงข้างมากจำนวนถึง 6 คน ในจำนวนตุลาการทั้งหมด 8 คน อันอาจทำให้คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขาดความเที่ยงธรรมได้

และขัดกับบทความเรื่อง"โครงสร้างและกลไกในรัฐธรรมนูญกับอำนาจของนายกฯ ทักษิณ"ซึ่งนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ได้เขียนลงตีพิมพ์ในหนังสือ "รู้ทันทักษิณ 2" เมื่อเดือนสิงหาคม 2547 โดยในขณะนั้นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้สร้างกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐขึ้นมากมาย นายวรเจตน์พบว่ามีปัญหาทั้งในแง่ของขั้นตอนและกระบวนการในการตรวจสอบ และในแง่ของการคัดเลือกบุคคลเข้าสวมตำแหน่งในองค์กรที่เป็นกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อันเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระในสมัยนั้นไม่อาจทำหน้าที่ตรวจสอบการอำนาจรัฐได้เลย

การเสนอให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญและจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบ รัฐธรรมนูญ จึงเป็นการสร้างปัญหาการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขึ้นอีก ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญนี้ได้มีคำวินิจฉัยคดีที่พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายคดี ดังนั้น สภาทนายความ ขอเรียกร้องให้กลุ่มนักวิชาการกฎหมายยุติการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นจนกว่าจะได้ตรวจสอบคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยถูกต้องครบถ้วนก่อน

และการนำเสนอความคิดเห็นของนักวิชาการด้านกฎหมายต้องเป็นความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ ไม่มุ่งร้ายทำลายบุคคลใดด้วยอารมณ์ หรือมีเจตนาแอบแฝงอื่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ