กรุงเทพโพลล์เผยครบ 1 ปีรัฐบาล คนกรุงรู้สึกเสี่ยงด้านการเมืองมากสุด

ข่าวการเมือง Thursday July 19, 2012 09:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง "ดัชนีความเสี่ยงของคนกรุงเทพฯ ในรอบ 1 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์" พบว่าคะแนนความเสี่ยงของคนกรุงเทพฯ ในภาพรวมอยู่ที่ 5.89 คะแนน(จากคะแนนเต็ม 10 คะแนนซึ่งเป็นระดับความเสี่ยงสูงสุด) โดยคนกรุงเทพฯ รู้สึกเสี่ยงในด้านการเมืองมากที่สุด 6.83 คะแนน รองลงมาคือ รู้สึกเสี่ยงด้านค่าครองชีพ 6.63 คะแนน และด้านชีวิตและทรัพย์สิน 6.32 คะแนน ขณะที่ด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวมีความเสี่ยงน้อยที่สุด 4.25 คะแนน

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่า ความเสี่ยงด้านการเมืองมีคะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุด(+0.32 คะแนน) รองลงมาคือด้านสุขภาพจิตใจ(+0.22 คะแนน) และด้านสุขภาพร่างกาย(+0.15 คะแนน) ส่วนความเสี่ยงด้านค่าครองชีพและหนี้สินที่คนกรุงฯ เสี่ยงมากที่สุดในการสำรวจครั้งที่ผ่านมามีคะแนนลดลง(-0.12 คะแนน ) ขณะที่ด้านการสูญเสียวัฒนธรรมประเพณีและสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเป็นด้านที่มีความเสี่ยงลดลงมากที่สุด(-0.55 คะแนน)

นอกจากนี้ คนกรุงเทพฯ ยังมีความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการเมืองเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลมีการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญหรือ พรบ. ปรองดองแล้ว ร้อยละ 51.0 เชื่อว่าจะทำให้เกิดความไม่สงบทางการเมืองและนำไปสู่การชุมนุมทางการเมือง ขณะที่ ร้อยละ 16.6 ไม่เชื่อว่าจะเกิดความไม่สงบดังกล่าว

ส่วนความคิดเห็นหากมีการลอยตัวก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนในอนาคต จะกระทบต่อค่าครองชีพของคนกรุงเทพฯ มากน้อยเพียงใดนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 77.0 ระบุว่ามากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 23.0 ระบุว่าน้อยถึงน้อยที่สุด

ทั้งนี้ เมื่อถามต่อว่านโยบายเพิ่มรายได้และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐบาลในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน โครงการร้านธงฟ้าราคาประหยัด โครงการร้านถูกใจ เป็นต้น ช่วยท่านได้อย่างไรบ้าง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53.3 เห็นว่าเหมือนเดิมไม่ได้ช่วยอะไรเลย ขณะที่ร้อยละ 27.9 เห็นว่าช่วยเพิ่มรายได้และหรือลดค่าใช้จ่าย และร้อยละ 18.8 เห็นว่าไม่เพียงไม่ช่วย แต่ชีวิตความเป็นอยู่กลับแย่ลง

สำหรับสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหามากที่สุดคือ สินค้าราคาแพง ค่าครองชีพสูง (ร้อยละ 39.0) รองลงมาคือ การชุมนุมทางการเมืองและความแตกแยกของคนในชาติ (ร้อยละ 23.5) และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวของไทย (ร้อยละ 12.0)

อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,183 คน ดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ 16-18 ก.ค.55


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ