ที่ประชุมวุฒิฯ แจงพิจารณาคำร้องถอดถอน"สุเทพ"ได้ แม้ไม่มีประธาน

ข่าวการเมือง Friday July 27, 2012 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยว่า วุฒิสภาสามารถดำเนินการพิจารณาคำร้องขอถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในข้อหาแทรกแซงราชการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 และ 268 แม้ว่า พล.อ.ธีรเดช มีเพียร จะพ้นจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา ทำให้วุฒิสภาไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาเพื่อรับคำร้องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตามมาตรา 272

"ถึงในรัฐธรรมนูญให้เป็นหน้าที่ประธานวุฒิสภาเป็นผู้รับคำร้องและจัดให้มีการประชุมวุฒิสภา แต่เมื่อไม่มีประธานวุฒิสภาในขณะนี้ โดยมีเพียงแค่รักษาการประธานวุฒิสภาก็สามารถที่จะเดินหน้าพิจารณาเพราะอำนาจในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมืองเป็นอำนาจโดยตรงของวุฒิสภา" นางนรรัตน์ กล่าว

ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ในฐานะรักษาการประธานวุฒิสภา กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการพิจารณาคำร้องขอถอดถอนนายสุเทพจะเป็นไปตามกระบวนการของข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2551 โดยหลังจากได้รับสำนวนการชี้มูลจาก ป.ป.ช.แล้วจะมีการนัดประชุมสมาชิกวุฒิสภาเพื่อพิจารณา เบื้องต้นต้องให้นายสุเทพมาชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่ามีประเด็นใดหรือมีพยานใหม่ที่ต้องชี้แจงเพิ่มเติมหรือไม่ ก่อนให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ คาดกระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน และหากจะถอดถอนนายสุเทพต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของวุฒิสภา หรือประมาณ 90 เสียง

ทั้งนี้ ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2551 กำหนดขั้นตอนกระบวนการการพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ว่าเมื่อประธานวุฒิสภาได้เอกสาร รายงาน และความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีมติชี้มูลแล้วต้องบรรจุเข้าระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วนและกำหนดให้ประชุมนัดแรกภายใน 20 วันนับแต่ที่ได้รับรายงานและความเห็นกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อกำหนดวันแถลงของกรรมการ ป.ป.ช., ผู้ถูกกล่าวหา แสะพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยาน

โดยการพิจารณาของวุฒิสภาแบ่งออกเป็น 4 วาระ คือ วาระที่ 1 ให้ผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงเปิดสำนวนและให้ผู้กล่าวหาหรือผู้แทนของผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิคัดค้านโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนโดยไม่มีการซักถาม หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาว่าควรจะมีการซักถามผู้เกี่ยวข้องในประเด็นใดอีก วาระที่ 2 จะเป็นช่วงการซักถามในประเด็นปัญหาที่ได้กำหนดไว้แล้วตั้งแต่วาระที่หนึ่ง

วาระที่ 3 การแถลงปิดสำนวนโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.และผู้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้สามารถยื่นคำแถลงปิดสำนวนได้ทั้งเป็นหนังสือ หรือวาจา โดยกำหนดระยะเวลายื่นคำแถลงภายใน 7 วัน และวาระที่ 4 การลงคะแนนเสียงถอดถอนภายใน 3 วันนับแต่วันแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจา หรือพ้นกำหนดยื่นคำแถลงการณ์ปิดสำนวนเป็นหนังสือ สำหรับการลงคะแนนจะทำโดยวิธีลงคะแนนลับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ