คณะทำงานพรรคร่วมฯ แจกคำวินิจฉัยศาล รธน.ศึกษานัยสำคัญละเอียด

ข่าวการเมือง Tuesday August 7, 2012 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา ในฐานะคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ แถลงผลประชุมนัดแรกว่า ที่ประชุมมีมติให้ตนเองเป็นประธานคณะทำงาน และแต่งตั้งนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา สมาชิกพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธาน โดยที่ประชุมมอบหมายให้พรรคร่วมรัฐบาลไปศึกษาคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนใน 4 ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างละเอียด เนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนและนำกลับมาร่วมหารือกันอีกครั้งในวันที่ 20 ส.ค.นี้

ที่ประชุมได้หารือกันใน 2 ประเด็น คือ คำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญมีสาระและนัยอย่างไรบ้าง โดยได้พิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใน 4 ประเด็นและเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจน เช่น ประเด็นแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 1 วินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญมีสิทธิรับคำร้องโดยตรงจากผู้ทราบการกระทำได้นั้นกลับไม่ปรากฏคำอธิบายในคำวินิจฉัยว่าเหตุใดก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยยึดหลักการต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด(อสส.) มาตลอด อีกทั้งในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญเองได้ระบุชัดเจนว่าต้องยื่นผ่าน อสส.เช่นกัน ดังนั้น อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้ และหลังจากนี้คงไม่มีใครไปยื่นเรื่องผ่าน อสส.อีก

ข้อสังเกตอีกประการ คือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นที่ 2 ที่ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่ ก่อนจะวินิจฉัยในประเด็นที่ 3 คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าประเด็นที่ 3 ควรจะได้รับการวินิจฉัยก่อนประเด็นที่ 2 เพราะเมื่อวินิจฉัยในประเด็นที่ 3 แล้วว่าไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สามารถดำเนินการได้ แต่เมื่อนำประเด็นที่ 2 มาพิจารณาก่อนจึงส่งผลให้คำวินิจฉัยออกมาเสมือนคำแนะนำให้จัดทำประชามติก่อนแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ส่วนอีกประเด็นที่ได้ประชุมหารือกัน คือ เพราะเหตุใดจึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นว่ามีบทบัญญัติหลายมาตราที่ขัดแย้งกันเองในรัฐธรรมนูญปี 50 และขัดกับหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้ง อาทิ มาตรา 237 ที่ลงโทษยุบทั้งพรรคการเมืองจากความผิดของคน ๆ เดียว ขัดกับหลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ในมาตรา 3 อีกทั้งยังมีที่มาจากประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ซึ่งไม่ชอบธรรม และรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาไม่เคยเคยบัญญัติเช่นนี้มาก่อน "ควรให้ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญมาจากประชาชนทั้งประเทศผ่าน ส.ส.ร.เพื่อสร้างความชอบธรรมและป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญด้วย" นายโภคิน กล่าว นายโภคิน กล่าวว่า ยังไม่สามารถสรุปกรอบระยะเวลาการทำงานของคณะทำงานชุดนี้ได้ต้องขึ้นอยู่กับเนื้อหาประเด็นและความยากง่ายในการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลนำข้อสรุปของที่ประชุมไปแจ้งต่อที่ประชุมของแต่ละพรรคทุกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ