ไทย-อินโดฯ หารือร่วมผลักดันความร่วมมือด้านพลังงาน-ยางพารา-ความมั่นคงทางอาหาร

ข่าวการเมือง Friday November 9, 2012 10:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายซูซิโล บัมยัง ยูโดโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในการการประชุม Bali Democracy Forum ณ โรงแรม Laguna บาหลี อินโดนีเซีย เมื่อวานนี้ เกี่ยวกับการเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ ด้านพลังงานไทย-อินโดนีเซีย ภายใต้กรอบ Energy Forum ผ่านการประชุม Indonesia-Thailand Energy Forum (ITEF) ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2550 และเป็นเวทีสำคัญของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนด้านพลังงงานของไทยและอินโดนีเซียในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและนโยบายด้านพลังงานและการแสวงหาความร่วมมือและการพัฒนาด้านพลังงานระหว่างกัน

ในการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีอินโดนีเซียล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2555 นั้น ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องให้ขยายความร่วมมือไปสู่ความร่วมมือด้านพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ (renewable energy) พลังงานสะอาด (clean energy) และพลังงานทดแทน ที่ครอบคลุมพลังงานใต้พิภพ ไบโอดีเซล น้ำมันปาล์มและเอทานอล โดยวันนี้ อินโดนีเซียได้รับที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ITEFครั้งที่ 4 เพื่อแสวงหาความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้นสำหรับพลังงานทางเลือกพลังงานทดแทนและการพัฒนาเอทานอล เนื่องจากกำลังการผลิตเอทานอลของอินโดนีเซียยังไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ซึ่งในโอกาสนี้ไทยได้แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนเอทานอลให้แก่อินโดนีเซียด้วย

สำหรับความร่วมมือด้านยางพาราปัจจุบันไทยและอินโดนีเซียมีความร่วมมือด้านยางพาราสามฝ่ายระหว่างไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ผ่านสภาไตรภาคีด้านยางพารา (International Tripartite Rubber Council —ITRC)ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวในเดือนธันวาคม2555 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และจะมีหารือเกี่ยวกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคา และการเพิ่มเงินกองทุนสำหรับบริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ (International Consortium Limited-IRCo)

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนาม รัฐบาลเวียดนามได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วม ITRC และ IRCo ด้วย เนื่องจากกลไกนี้ช่วยทำให้ประเทศผู้ผลิตยางพาราจะได้รับประโยชน์จากเสถียรภาพด้านราคาในตลาดโลก และส่งเสริมการบูรณาการในการทำงานร่วมกันและนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปยางด้วย

ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องข้าวที่เป็นสินค้าเกษตรอ่อนไหว และอินโดนีเซียยังต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้เร่งผลักดันความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารตามที่ไทยและอินโดนีเซียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย (MOU between the Ministry of Trade of Indonesia and the Ministry of Commerce of Thailand on Rice Trade) ในปี 2554

ภายใต้ความตกลงฉบับนี้ อินโดนีเซียตกลงที่จะซื้อขายข้าวจากไทยตามภาวะการผลิตข้าวของประเทศ และรัฐบาลไทยจะจำหน่ายข้าวขาวให้แก่อินโดนีเซีย ร้อยละ 15-25 ในระหว่างปี 2555-2557 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำความพร้อมของไทยในการสนับสนุนข้าวแก่อินโดนีเซียตามเงื่อนไขที่ระบุใน MOU ซึ่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียเห็นพ้องที่จะเดินหน้าความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยนายกรัฐมนตรีจะมอบให้ รมว.พาณิชย์เดินทางไปยังอินโดนีเซียเพื่อหารือในเรื่องนี้ต่อไป

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความขอบคุณประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ที่ติดตามและให้ความสนใจต่อสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมถึง มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายของไทยเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (SBPs) เนื่องจากเป็นประเทศที่เคยประสบปัญหาภัยจากการก่อการร้ายจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ซึ่งอินโดนีเซียนับเป็นมิตรประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยเฉพาะในกรอบ OIC ซึ่งอินโดนีเซียเป็นประเทศสมาชิกที่มีอิทธิพลในฐานะที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกทั้งยังให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนไทยในพื้นที่ดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ