เพื่อไทยขึ้นลิสต์ 4 ข้อเสนอแก้รธน.รอตกผลึกหลัง"เฉลิม"โยนหินรื้อรายมาตรา

ข่าวการเมือง Monday January 7, 2013 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดนุพร ปุณณกัณต์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย(พท.)กล่าวว่า ล่าสุดมีข้อเสนอในการแก้รัฐธรรมนูญอย่างน้อย 4 แนวทาง ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติโดยผู้ที่เกี่ยวข้องจะนำแนวทางต่าง ๆ ไปศึกษารายละเอียด ข้อดี-ข้อเสีย ก่อนนำกลับมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง คาดว่าจะได้ข้อยุติภายในเวลาราว 45 วัน โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เตะถ่วงแต่อย่างใด
"ตอนนี้แต่ละพรรคเองคงไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเอาแนวทางไหน ระหว่างนี้ทุกฝ่ายก็แยกย้ายกันไปหาข้อมูลโดยรายเอียดอีกครั้ง เพื่อนำมารวบรวมให้ตกผนึกครบทุกด้านก่อนแล้วจึงมาพูดคุยกันอีกครั้งว่าแนวทางใดเหมาะสมที่สุด...คิดว่าคงเร็วๆ นี้ ที่คุยกันไว้ก็ราว 1 เดือนถึง 45 วัน" นายดนุพร กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ทั้ง 4 แนวทาง ได้แก่ 1.เดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในวาระ 3 ที่ค้างการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแนวทางนี้แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ให้การสนับสนุน 2.ทำประชามติสอบถามประชาชนว่าต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ 3.ให้สถาบันการศึกษาที่มีคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ทำการศึกษาแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นมติของที่สัมมนาพรรคเพื่อไทยวานนี้ และ 4.การแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ซึ่งเป็นข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี

รองเลขาธิการพรรค พท.กล่าวว่า ในการสัมมนาของพรรควานนี้ ตัวแทนทุกภาคส่วนได้เสนอความเห็นในแนวทางต่างๆ ดังกล่าวให้รับทราบ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่จึงต้องให้เวลาในการพิจารณาให้รอบคอบและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ

"ทำพร้อมกันไปหลายๆ ทาง ทำเยอะก็ไม่ได้เสียหายอะไร จะได้มีข้อมูลในการตัดสินใจเลือก ซึ่งคุยหันแล้วนายกฯ บอกว่าจะเลือกทางที่เป็นประโยชน์มากที่สุด มีผลเสียน้อยที่สุด"นายดนุพร กล่าว

ขณะที่นายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค พท.กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคฯ มีมติร่วมกันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 อย่างแน่นอน ส่วนวิธีการนั้นทางพรรคได้ขอให้คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐ 3 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไปศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนว่าเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และข้อการดำเนินการต่างๆ

รวมถึงรับฟังความคิดเห็นฝ่ายการเมือง และนักวิชาการด้วย เพื่อจะได้มีข้อมูลสะท้อนกลับมาว่าทางพรรคได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว โดยมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการศึกษา 45-60 วัน จากนั้นสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลจะนำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการพิจารณา

"มีการแก้ไขแน่นอน เพราะเราได้สัญญากับประชาชนไว้ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ให้เป็นประชาธิปไตย...เป้าหมายคือให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุดในการที่จะกำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ว่าการแก้ไขมีข้อเสียอย่างไร และทำไมต้องแก้ไข ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร จึงให้ 3 มหาวิทยาลัยไปศึกษา เพื่อจะได้เห็นถึงข้อดี ข้อเสีย" นายพร้อมพงศ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ทั้งนี้ ระหว่างรอผลศึกษาทางพรรคจะให้ ส.ส.และสมาชิกพรรคลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการดำเนินงานของคณะทำงานศึกษาวิธีการออกเสียงประชามติที่จะมีการเดินหน้าจัดเวทีสานเสวนา เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีการตกผลึก ขณะนี้จึงยังไม่มีข้อสรุปว่าจะมีการทำประชามติต่อไป หรือจะโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้แนะว่าการที่จะโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ได้นั้นต้องฟังเสียงจากประชาชนก่อน

"ระหว่างนี้เราเองก็จะมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย โดยให้สมาชิสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกพรรคลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องรัฐธรรมนูญมันเกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างไร และข้อดี-ข้อเสียด้วย" นายพร้อมพงศ์ กล่าว

ส่วนการเดินหน้าลงมติโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เป็นหน้าที่ของรัฐสภา ซึ่งระหว่างนี้ทางพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลไม่อยากให้มีความขัดแย้ง เนื่องจากมีความคิดเห็นต่างกันอยู่ ทางพรรค พท.จึงต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาชนก่อน

อย่างไรก็ตาม พรรค พท.และรัฐบาลไม่ได้เร่งรีบเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความเป็นประชาธิปไตย และการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องนำไปสู่ทางออกที่ดีของประเทศ นำไปสู่การปรองดอง การสมานฉันท์

ขณะที่นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะทำงานศึกษาวิธีการออกเสียงประชามติและจัดเวทีสานเสวนา กล่าวว่า คณะทำงานฯ นัดหารือร่วมกับตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในวันที่ 11 ม.ค.นี้ ซึ่งจะสอบถามถึงความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการทำประชามติ เพื่อหาข้อสรุปเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ส่วนการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลนั้นคงไม่จำเป็นเพราะมีตัวแทนของแต่ละพรรคร่วมเป็นคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ปฏิเสธข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โฟนอินมายังที่ประชุมแกนนำพรรค พท.แล้วเสนอให้ล้มเลิกการจัดทำประชามติแล้วหันมาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา

"ผมไม่เห็นว่าคุณทักษิณพูดอะไรในที่ประชุม เพียงแต่เห็นว่าคุณทักษิณจะโฟนอินเข้ามาแต่ก็ไม่ได้โทรเข้ามา" นายจาตุรนต์ กล่าว

สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ตนเองยังไม่ทราบว่าจะออกมาแนวทางใด เนื่องจากพรรค พท.มีมติออกมาว่าให้สถาบันการศึกษาไปทำการศึกษาแนวทาง ซึ่งต้องรอดูผลการศึกษาดังกล่าวก่อน แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่าหากจะทำประชามติเพื่อขอคำปรึกษาจากประชาชนจะเกิดปัญหาตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะไม่มีบทบัญญติในเรื่องการทำประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

"ก็ยังไม่ทราบ ยังมีความเห็นต่างกันอยู่ เห็นทางพรรคเพื่อไทยให้สถาบันการศึกษาไปศึกษาเพิ่มเติม ก็คงต้องรอผลการศึกษาก่อน และยังไม่ทราบว่าเขาจะสรุปยังไง รวมถึงหัวข้อที่จะให้สถาบันการศึกษาไปศึกษาที่ชัดเจนจริงๆ มันคืออะไร" นายจาตุรนต์ กล่าว

วานนี้(6 ม.ค.) ร.ต.อ.เฉลิม ได้เสนอแนวคิดในการแก้รัฐธรรมนูญต่อเวทีการสัมมนาของพรรคเพื่อไทย จ.นครราชสีมา โดยมีเนื้อหาใน 9 ประเด็น รวมทั้งสิ้น 81 มาตรา ประกอบด้วย 1.ยกเลิกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วยุบรวมเป็นแผนกหนึ่งของศาลฎีกาเพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล, 2.สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 200 คนต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้มี ส.ว.สรรหา ซึ่งมักมีแนวคิดสวนทางกับรัฐบาลอยู่ตลอด

3.ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองยังคงให้มีเหมือนเดิม แต่ให้ยุบรวมเป็นแผนกหนึ่งของศาลฎีกา ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ไขมากถึง 38 มาตรา, 4.แก้ไขมาตรา 68 ว่าด้วยเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการยื่นฟ้องในประเด็นเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครองให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสามารถยื่นฟ้องโดยตรงไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุดได้หรือไม่, 5.ยุบเลิกผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนแต่ไม่มีอำนาจฟ้อง

6.คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต้องมาจากการเลือกตั้งของรัฐสภา โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และต้องสามารถตรวจสอบได้, 7.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ต้องมาจากการเลือกตั้งจากรัฐสภาเช่นเดียวกับ กกต. มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และตรวจสอบได้ 7 โดยอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ต้องไม่ให้มีเหนือศาลยุติธรรม

8.ยกเลิกมาตรา 190 เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลไม่ต้องไปขออำนาจจากรัฐสภา เนื่องจากสร้างความยุ่งยากและเป็นการบั่นทอนการทำงานของรัฐบาล และ 9.แก้ไขมาตรา 237 เพื่อไม่ให้เกิดการยุบพรรคอย่างที่ผ่านมา เนื่องจากพรรคการเมืองคือสัญลักษณ์ หากมีกรรมการบริหารพรรคคนใดทำผิดก็ให้ว่าไปตามนั้น ไม่ควรนำพรรคการเมืองมาเกี่ยวข้อง

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า การเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพราะเห็นว่าการทำประชามติตามรัฐธรรมนูญปี 50 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติปี 52 ต้องให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 48 ล้านคน นั่นหมายถึงต้องได้เสียงอย่างน้อย 24.6 ล้านเสียง ซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่หากจะทำประชามติต้องมีเงื่อนไข 5 ประการ คือ 1.ผู้ที่ไม่ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนประชามติจะไม่เสียสิทธิเลือกตั้ง 2.ไม่มีการกระตุ้นเตือน 3.ไม่มีการลงคะแนนล่วงหน้า 4.เปรียบเทียบการเลือกตั้งไม่ได้ 5.คนส่วนหนึ่งมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องไกลตัว

พร้อมกันนี้ยังยืนยันว่า ไม่มีแนวคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เพื่อช่วยเหลือคนคนเดียวตามที่ฝ่ายค้านกังวล เพราะการแก้รัฐธรรมนูญไม่สามารถจะล้มล้างคดีต่างๆ ที่ถูกตัดสินไปแล้ว และหากจะแก้ไขเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ จริงคงต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง หรือเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ