พันธมิตรฯ แถลงค้านแก้ รธน.-พ.ร.บ.กู้เงิน เตรียมหาช่องเอาผิดจนถึงที่สุด

ข่าวการเมือง Thursday April 4, 2013 12:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.)รุ่นที่ 2 ได้อ่านแถลงการณ์พันธมิตรฯ ฉบับที่ 2/2556 เรื่อง คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองด้วยกันเอง และ คัดค้านกฎหมายกู้เงินมหาศาลสร้างหนี้สินให้กับชาติ โดยแกนนำ พธม.มีมติมอบหมายให้ทนาย พธม.ไปปรึกษาหารือกับนักวิชาการและนักกฎหมายเพื่อศึกษาข้อกฎหมายเพิ่มเติม และหากพบประเด็นหรือช่องทางเพิ่มเติมหรือบทลงโทษต่อผู้ที่กระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรม ก็ให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อเนื่องจนถึงที่สุด
"การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นรายมาตรา อันได้แก่ มาตรา 68 มาตรา 111 มาตรา 190 และมาตรา 237 และการเสนอร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งจะสร้างหนี้สินให้กับประเทศ 2 ล้านล้านบาทนั้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเห็นว่าทั้งสองเรื่องดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงต่อไป"

พธม.ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลแสดงเจตนาอย่างชัดเจนที่จะลดและริดรอนสิทธิประชาชนในการยื่นคำร้องโดยตรงต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และให้ประชาชนมีสิทธิ์ยื่นคำร้องผ่านอัยการสูงสุดตามมาตรา 68 ได้เฉพาะในหมวดที่ 3 อันหมายถึงสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเท่านั้น และนั่นหมายความว่าหากนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งอยู่ในหมวดที่ 5 เพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ประชาชนจะไม่สามารถยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญได้เลยไม่ว่าจะผ่านอัยการสูงสุดหรือไม่ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การยื่นผ่านอัยการสูงสุดก็ยังเป็นเรื่องที่ พธม.ตั้งข้อสังเกตว่าอัยการต่างได้รับผลประโยชน์และตำแหน่งจากการเป็นคณะกรรมการในกิจการรัฐวิสาหกิจจากรัฐบาล อาจกลายเป็นผู้ขัดขวางไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิยื่นคำร้องต้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการลดอำนาจประชาชน และเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายรัฐบาล หลีกเลี่ยงและขัดขวางกระบวนการตรวจสอบจากประชาชนไม่ให้เข้าถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พธม.จึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68

นอกจากนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เป็นสิ่งที่อันตรายต่อประเทศชาติ เพราะได้ตัดหนังสือสัญญา 3 กลุ่มใหญ่ออกจากมาตราดังกล่าวไม่ต้องนำเข้ามาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ได้แก่ 1. หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ 2. หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง และ 3. หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

"ถือเป็นการทำลายการถ่วงดุลตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างชัดเจน และยังล้มเลิกกระบวนการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมอีก 4 ขั้นตอนตามมาตรา 190 เดิม...เป็นการรวบอำนาจตัดกระบวนการตรวจสอบทั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชน รวมถึงตัดสิทธิ์ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการสัญญาระหว่างประเทศของรัฐบาลอีกด้วย"

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 111 เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)เพิ่มจำนวนเป็น 200 คน ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง และทำให้ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งที่จะหมดวาระในเดือน มี.ค.57 สามารถสมัครรับเลือกตั้งต่อได้ทันที เห็นได้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลต้องการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งในเบ้าหลอมลักษณะเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)อันจะเป็นผลทำให้ ส.ว.ต้องอาศัยฐานเสียงเดียวกันกับ ส.ส.และต้องอาศัยอิทธิพลและระบบอุปถัมภ์เดียวกันกับ ส.ส. ซึ่งทุกวันนี้ ส.ว.ส่วนใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายรัฐบาลได้จริง และทำให้ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งจำนวนมากปฏิบัติตัวเป็นทาสของฝ่ายรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

การกระทำดังกล่าวก็ยังมีความมุ่งหมายให้กระบวนการแต่งตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งต้องมาจากสมาชิกวุฒิสภานั้นยังคงอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งจะเป็นผลทำให้เกิดการรวบอำนาจและทำให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถตรวจสอบอำนาจรัฐบาลได้จริงเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

ส่วนแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพื่อนำไปสู่การยกเลิกโทษยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมือง เห็นได้ชัดเจนว่านักการเมืองไม่มีความจริงใจที่จะเพิ่มบทลงโทษรุนแรงกับผู้ที่กระทำความผิดทุจริตเลือกตั้งหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งผู้เสนอทั้งหมดก็จะได้ประโยชน์ต่อพรรคการเมืองและตำแหน่งของตนเองจึงถือเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์

พธม.จึงขอคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 มาตรา และขอสนับสนุน เห็นด้วย และให้กำลังใจสมาชิกรัฐสภาที่ได้ยื่นคำร้องต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยในข้อกฎหมายดังกล่าวว่าเป็นการกระทำที่ขัดกันกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญทั้งประเด็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภา

นายปานเทพ กล่าวอีกว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าเป็นการหลีกเลี่ยงวิธีพิจารณางบประมาณโดยปรกติ ไม่มีความชัดเจนและรายละเอียดเนื้อหาของแต่ละโครงการ และยังมีบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ที่ไม่นำเงินส่งคลังตามกฎหมายวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และยังให้อำนาจให้กระทรวงการคลังนำเงินจากการกู้ไปให้กู้ต่อแก่หน่วยงานของรัฐเพื่อนำไปใช้จ่ายได้อีกด้วย ในขณะที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 169 กำหนดให้การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวข้องด้วยการโอนงบประมารหรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กรณีดังกล่าวจึงเป็นร่างกฎหมายที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

พธม.จึงขอสนับสนุน พร้อมให้กำลังใจในการที่อดีต ส.ส.ร.2550 ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เพื่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ลงโทษต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป และเห็นด้วย และขอสนับสนุน พร้อมให้กำลังใจสมาชิกรัฐสภาที่จะยื่นคำร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 นี้ต่อไป

"แม้ประเด็นข้างต้นเหล่านี้จะยังไม่ใช่เงื่อนไขในการชุมนุมทั้ง 3 ประการในขณะนี้ แต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่นำไปสู่วิกฤติของชาติได้ทั้งสิ้น ดังนั้นในช่วงระยะเวลา 1 ปีเศษ ที่ผ่านมา พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงได้เดินสายเพื่อชี้แจงความจริงให้ประชาชนได้รับทราบ สร้างความเข้าใจและตระหนักในปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ