"นพดล"แจงปมแถลงวาจาศาลโลกเป็นการตีความพื้นที่ทับซ้อน เชื่อรัฐบาลสู้คดีเต็มที่

ข่าวการเมือง Friday April 12, 2013 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการให้การด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก) กรณีกัมพูชาขอให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารในวันที่ 15-19 เม.ย.นี้ ไม่ใช่เรื่องตัวปราสาทพระวิหารที่มีคนเข้าใจผิดว่านายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และตนเองเป็นคนยกให้กัมพูชา
"คดีตีความนี้ไม่เกี่ยวกับตัวปราสาทพระวิหารนะครับ เพราะตัวปราสาทพระวิหารนั้นศาลโลกตัดสินเมื่อ 51 ปีก่อนคือในวันที่ 15 มิ.ย.2505 ให้ตกเป็นของกัมพูชาไปแล้ว แต่ก็ยังมีคนเข้าใจผิดว่าท่านสมัครกับผมเป็นคนยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา แล้วมาด่าพวกผม ความจริงก็คือเราแพ้คดีในศาลโลกเมื่อ 51 ปีก่อนและจำใจต้องยกตัวปราสาทให้กัมพูชาไปแล้ว" นายนพดล ระบุ

นายนพดล กล่าวว่า คดีที่กำลังพิจารณาในศาลโลกในขณะนี้คือคดีตีความคำพิพากษาของศาลโลกที่ตัดสินเมื่อ 51 ปีที่แล้ว ไม่ใช่คดีใหม่ เรียกว่าคดีตีความคำตัดสินในอดีต คู่ความในคดีที่ศาลโลกตัดสินไปแล้ว ถ้าสงสัยว่าคำตัดสินมีความหมายอย่างไร ก็ยื่นตีความได้ตลอดเวลา ไม่มีกำหนดเวลาว่าต้องยื่นภายในกี่ปี ผิดกับการรื้อฟื้นคดีต้องกระทำภายใน 10 ปี ดังนั้นคดีปราสาทพระวิหารจึงรื้อฟื้นไม่ได้แล้ว

"คดีตีตวามนี้ กัมพูชายื่นขอให้ศาลโลกตีความว่าพื้นที่ปริเวณตัวปราสาทพระวิหารที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า vicinity มีขอบเขตเพียงไรครับ...เรื่องตัวปราสาทพระวิหารมันจบไปตั้งแต่ 51 ปีที่แล้วครับ เรารื้อฟื้นคดีไม่ได้แล้ว แต่ที่กัมพูชาและไทยยังถกเถียงกันไม่ใช่ใครเป็นเจ้าของตัวปราสาท แต่เป็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร เพราะไทยอ้างเป็นของไทย แต่กัมพูชาอ้างเป็นของกัมพูชาครับ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะต่างฝ่ายต่างยึดถือแผนที่คนละชุด และยึดถือเส้นเขตแดนคนละเส้น(ไทยยึดสันปันน้ำแต่กัมพูชายึดแผนที่ระวาง 1 ต่อ 200,000)" นายนพดล ระบุ

นายนพดล กล่าวว่า ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา แต่พื้นที่ทับซ้อนยังเถียงกันอยู่ ขออุปมาอุปมัยเหมือนตัวปราสาทเป็นศาลพระภูมิ ส่วนพื้นที่ทับซ้อนเปรียบเป็นสนามหญ้า ต่อมาในปี 2549 กัมพูชายื่นคำขอเอาตัวปราสาทและพื้นที่ทับซ้อนไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก เปรียบเปรยคือ เอาตัวศาลพระภูมิและสนามหญ้าไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งในปี 2550 ไทยคัดค้านเพราะเขาจะผนวกเอาพื้นที่ทับซ้อนด้วย

"รัฐบาลสมัครเข้าบริหารประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 51 เรารับเผือกร้อนมาจากรัฐบาลทหาร คมช. กัมพูชาเขายื่นเรื่องขึ้นทะเบียนตัวปราสาทและพื้นที่ทับซ้อนฝ่ายเดียวมาก่อนเราเข้ารับตำแหน่งแล้วครับ ดังนั้นที่มาเที่ยวด่าว่ารัฐบาลสมัครเป็นผู้ทำคำแถลงการณ์ร่วมจนทำให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียวจึงเป็นเท็จครับ" นายนพดล ระบุ

นายนพดล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีทุกคน รัฐมนตรีต่างประเทศทุกคน ไม่มีใครชั่วพอที่จะทำให้ไทยเสียประโยชน์ด้านดินแดน ไม่มีใครขายชาติ นอกจากนั้นการทำงานต้องทำร่วมกับข้าราชการ ทหาร กองทัพ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ถ้าทำไม่ดี ข้าราชการก็ไม่เอาไว้แน่ แต่กรณีที่ตนเองดำเนินการไปนั้นข้าราชการเห็นด้วย มีการปรึกษาหารือและเห็นชอบเป็นลำดับ จากระดับกระทรวงต่างประเทศ ก็ส่งเรื่องเข้าสภาความมั่นคงแห่งชาติ แล้วเสนอเข้า ครม. ทำเป็นขั้นเป็นตอน

เมื่อกัมพูชาเอาทั้งตัวปราสาทและพื้นที่ทับซ้อน หรือเปรียบเปรยเป็นเอาศาลพระภูมิบวกสนามหญ้าไปขึ้นทะเบียน รัฐบาลของนายสมัครจึงไปเจรจาให้กัมพูชาตัดพื้นที่ทับซ้อนหรือสนามหญ้าออก และสนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารที่เป็นของกัมพูชามา 51 ปีตามที่ศาลโลกตัดสิน ซึ่งการเจรจายากมาก ท้ายที่สุดกัมพูชายอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออก และยอมขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น นี่คือที่มาของคำแถลงการณ์ร่วม ซึ่งเอกสารชิ้นนี้เป็นประโยชน์มาก เป็นครั้งแรกที่กัมพูชายอมรับว่ามีพื้นที่ทับซ้อน นักกฎหมายระหว่างประเทศชั้นนำของโลกและชั้นนำของไทย ต่างบอกว่าคำแถลงการณ์ร่วมเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย แต่ศาลปกครองตัดสินให้เป็นโมฆะไปแล้ว

"รัฐบาลสมัครและผมเป็นผู้ปกป้องดินแดนครับ ผมมีเอกสารราชการและมติคณะกรรมการมรดกโลกยืนยัน ผมไม่ต้องการคำชมใดๆครับ เพราะคนไทยทุกคนมีหน้าที่ปกป้องดินแดน แต่ที่รับไม่ได้คือมาด่าว่าเราขายชาติทั้งๆ ที่เป็นความเท็จ พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ให้สิทธิ์ใครที่จะประณามคนอื่นด้วยความเท็จครับ มันเป็นบาป" นายนพดล ระบุ

นายนพดล กล่าวว่า แนวทางของรัฐบาลนายสมัครคืออะไรที่เป็นของกัมพูชาก็เป็นของกัมพูชา อะไรที่เป็นของไทยต้องปกป้อง ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา แต่พื้นที่ทับซ้อนไทยต้องปกป้องไม่ให้นำไปขึ้นทะเบียน ในระหว่างที่ยังเจรจาปักปันเขตแดนไม่เสร็จ ก็บริหารจัดการพี้นที่ทับซ้อนร่วมกันไปพลางๆ ก่อน จะได้ประโยชน์ทั้งชาวบ้านตามแนวชายแดนทั้งสองฝ่าย ไม่รบกัน

ทั้งนี้ ไทยและกัมพูชาจะแถลงสรุปประเด็นด้วยวาจาในระหว่างวันที่ 15-19 เมษายนนี้ และหลังจากนั้นศาลสามารถตัดสินได้ตลอดเวลา แต่คาดว่าน่าจะตัดสินประมาณเดือนกันยายนปีนี้

"รัฐบาลท่านนายกฯยิ่งลักษณ์สู้คดีเต็มที่ครับ ทีมกฎหมายก็ใช้ทีมเดียวกันที่ตั้งโดยรัฐบาลท่านอภิสิทธิ์ เราเอาใจช่วยทีมกฎหมายของประเทศ ผลจะออกมาอย่างไรเราไม่ทราบ แต่ไม่ควรโทษกันไปมาครับ เพราะคนไทยทุกคนรักชาติเท่ากัน และขอร้องเถอะครับ จะด่าใครขอให้ด่าแบบมีข้อมูลและเอาความจริงมาพูดกันครับ ประเภทตั้งหน้าตั้งตาจะด่าเขาฝ่ายเดียวด้วยความเท็จ ระวังให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัวนะครับ" นายนพดล ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ