รมว.ตปท.ชี้เขมรขอตีความเกินเลยจากคดีเดิม-ยันไทยปฏิบัติตามศาลโลก

ข่าวการเมือง Thursday April 18, 2013 09:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ สรุปประเด็นการแถลงทางวาจาของไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ว่า การขอตีความของกัมพูชาบิดเบือนกระบวนการของศาลฯ ไม่ใช่การขอตีความ แต่มีลักษณะเป็นการอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลฯ ตัดสินในเรื่องที่เคยปฏิเสธที่จะตัดสินเมื่อ 50 ปีที่แล้ว

สำหรับพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่กัมพูชาเรียกร้องเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏในคดีเดิม กัมพูชากล่าวอ้างเพราะต้องการนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้ในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก นอกจากนี้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่กัมพูชาเรียกร้องในครั้งนี้ มีขนาดกว้างกว่าพื้นที่ “บริเวณใกล้เคียง"ปราสาท ในคำพิพากษาฯ ปี 2505 ที่กัมพูชาเคยอ้างสิทธิไว้ในคดีเดิม ซึ่งมีขนาดแค่ 0.35 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น

ส่วนเส้นมติคณะรัฐมนตรีปี 2505 ที่ไทยใช้ในการปฏิบัติตามคำพิพากษาฯ สอดคล้องกับพื้นที่“บริเวณใกล้เคียง"ปราสาทในคำพิพากษาฯ และกัมพูชาไม่เคยทักท้วงว่าไทยไม่ได้ถอนกำลังจากบริเวณดังกล่าว ซึ่งแสดงว่า ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกัน จึงไม่จำเป็นต้องตีความ

นอกจากนี้ ไทยแสดงให้ศาลฯ เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของเอกสารหลักฐานที่กัมพูชาใช้ในศาลฯ ครั้งนี้ โดย “แผนที่ภาคผนวกหนึ่ง" ที่กัมพูชาใช้อ้างมีด้วยกันหลายชุด แผนที่ชุดที่กัมพูชายื่นต่อศาลฯ ในคดีเดิมแตกต่างจากแผนที่ชุดที่นำมาใช้ครั้งนี้ และเส้นบนแผนที่ก็ไม่สามารถถ่ายทอดลงบนภูมิประเทศจริงได้อย่างถูกต้อง นอกจากนั้น กัมพูชายังนำแผนที่ที่ไทยเคยนำไปยื่นต่อศาลฯ ในคดีเดิมมาแต่งเติม

ทั้งนี้ ไทยได้ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ศาลฯ สั่งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 แล้ว ซึ่งก็บรรลุผลที่ศาลฯ ต้องการ คือ ไม่มีเหตุปะทะทางอาวุธในบริเวณชายแดน ไม่มีการสูญเสียชีวิต และไทยกับกัมพูชาได้ประชุมหารือกันและเห็นพ้องเรื่องขั้นตอนการดำเนินการ นอกจากนั้น ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาดำเนินไปด้วยดี มีช่องทางหารือเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างกัน รวมถึงในเรื่องเขตแดนที่กัมพูชาพยายามขอให้ศาลฯ ตีความก็มีกลไกการเจรจาภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำเขตแดนทางบก พ.ศ. 2553

"สิ่งที่ฝ่ายไทยแถลงต่อศาลฯ เป็นไปตามแนวทางการต่อสู้คดีที่ได้เตรียมไว้ล่วงหน้าอย่างรอบคอบ โดยขอให้ศาลฯ ไม่รับคดีไว้พิจารณา หรือหากศาลฯ เห็นว่า ศาลฯ มีอำนาจรับคดีไว้พิจารณา ก็ขอให้ตัดสินว่าไม่มีประเด็นที่จะต้องตีความ เพราะคำพิพากษาฯ ชัดเจน และไทยได้ปฏิบัติตามแล้ว" นายสุรพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ