ม็อบอปท.จี้รัฐบาลจัดสรรรายได้เพิ่ม-นัดชุมนุมใหญ่ 28 พ.ค./พีมูฟ รอฟังผลแก้ปัญหา

ข่าวการเมือง Tuesday May 14, 2013 13:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาชิกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย จำนวนประมาณ 1,500 คน นำโดย นายธนภณ กิจการญจน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ ได้ร่วมตัวชุมนุมบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องขอให้รัฐบาลทบทวนการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ในปีงบประมาณ2557 จากร้อยละ 27.28 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล เป็นร้อยละ 30

โดยแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมปราศรัยว่า นโยบายท้องถิ่นของรัฐบาลแทนที่จะใช้งบประมาณจากส่วนกลาง กลับใช้งบของท้องถิ่นในการดำเนินการ ทำให้ไม่สามารถนำงบประมาณของท้องถิ่นไปการดำเนินนโยบายของท้องถิ่นเองได้เลยต้องมาชุมนุมในครั้งนี้ และหากรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในการตอบสนองข้อเรียกร้อง กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 28 พ.ค.อีกครั้ง หลังจากนั้นตัวแทนผู้ชุมนุมได้เข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายวราเทพ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ผู้ชุมนุมต้องการให้รัฐบาลทบทวนการจัดสรรงบประมาณให้ อปท.เป็นร้อยละ 30 ของเงินรายได้รัฐบาล จากที่สำนักงบประมาณได้พิจารณาการจัดสรรไว้ที่ร้อยละ 27.28 ตนเองจะนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อ ครม.ว่าจะทบทวนได้หรือไม่ หรืออาจจะเป็นตัวเลขที่คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(กกถ.) เคยเสนอไว้ที่ร้อยละ 27.77 ซึ่งต้องดูว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีความเห็นอย่างไร

ส่วนข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลถอดภารกิจที่เป็นนโยบายของรัฐบาลออกจากสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นนั้นก็ต้องมีการหารือกัน และในการพิจารณางบปี 58 ตนเองในฐานะประธานอนุกรรมการด้านการเงินการคลังใน กกถ.ก็จะมีการทบทวนการกำหนดสัดส่วนรายได้และภารกิจต่างๆ ก่อนที่จะพิจารณาออกเป็นกฎหมาย

"ปีนี้ก็ต้องดูเท่าที่ทำได้ก่อน หากจะให้ทำตามข้อเรียกร้องทันทีคงเป็นไปได้ยาก เพราะหากดำเนินการตามข้อเรียกร้องวงเงินจะก้าวกระโดดมาก และงบประมาณในปีนี้ที่สำนักงบประมาณได้ตั้งงบประมาณมาแล้วคงจะแก้อะไรได้ไม่มากนัก และอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีส่วนหนึ่งก็อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรจะแปลญัติปรับเพิ่มด้วย" นายวราเทพ กล่าว

ส่วนกรณีผู้ชุมนุมระบุว่าหากยังไม่มีความชัดเจน ในวันที่ 28 พ.ค.นี้จะยกระดับการชุมนุมนั้น นายวราเทพ กล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้นเพราะการหารือก็เป็นไปด้วยดี และมีตัวแทนท้องถิ่นทำงานร่วมกับรัฐบาลตลอด ตนเองก็คิดว่าไม่น่าจะบานปลาย

ด้านนายบรรจง โฆษิตจีรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ในฐานะประธานอนุกรรมการการเงินการคลัง สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อปี 56 มีการจัดสรรรายได้ให้ท้องถิ่นอยู่ที่ 27.27% แต่ปี 2557 จะเพิ่มให้เพียงร้อยละ 0.01 ท้องถิ่นมองว่าจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลประชาชนได้ จึงยื่นให้รัฐบาลทบทวนให้จัดสรรตามมติของ กกถ.ที่ร้อยละ 27.77

นายบรรจง กล่าวว่า ในส่วนของการประมาณการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่นที่อัตราเติบโตอยู่ที่ปีละ 2,000-2,500 ล้านบาท เท่านั้น แต่ปี 57รัฐบาลประมาณการว่าท้องถิ่นจะจัดเก็บรายได้ประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่างจากสถิติที่ผ่านมาจัดเก็บได้เพียง 40,000-45,000 ล้านบาท และปี 57 คาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณ 46,000 ล้านบาทเท่านั้น

"ตัวเลขประมาณการของรัฐบาลเกินกว่าความเป็นจริง เป็นตัวเลขลมที่ไม่สามารถไปสู่ท้องถิ่นได้จริง รวมทั้งนโยบายแห่งรัฐเรื่อง อสม. เชิงรุกที่จ่ายให้ อสม. 600 บาท/เดือน ซึ่งปีนี้รัฐบาลตั้งงบไว้ 7.6 พันล้านบาท ทั้งที่มติ ครม.ให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณจัดหารายได้เพื่อทำโครงการนี้ โดยไม่ให้รวมในสัดส่วนของท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา แต่ยังรวมอยู่ในนี้ด้วย จึงขอให้ถอดโครงการนี้ออกจากสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นด้วย" นายบรรจง กล่าว

นายกฯ เมืองร้อยเอ็ด กล่าวว่า ข้อเรียกร้องเรื่องต่อไปคือเรื่องของนโยบายพัฒนา อปท.กรณีเร่งด่วนวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ที่มีการอุดหนุนเฉพาะกิจ จะทำให้การจัดสรรกระจุกตัว เลือกปฏิบัติ และข้อเรียกร้องสุดท้ายคือการชดเชยค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท/วัน และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท/เดือน ที่มีการระบุว่าจะมีการชดเชยให้กรณีที่ท้องถิ่นรับผลกระทบ คิดเป็นเงินประมาณ 6,200 ล้านบาท ในงบประมาณปี 2556 โดยให้ท้องถิ่นนำเงินค่าอุดหนุนทั่วไปของท้องถิ่นมาชดเชยก่อน แต่ปรากฏว่าตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีการชดเชยคืนมา

"หากวันนี้ไม่ได้รับคำตอบเป็นที่น่าพอใจท้องถิ่น ทั้ง 3 สมาคมจะนำไปหารือกันและจะมีความเคลื่อนไหวอีกครั้งในวันที่ 28 พ.ค. เพื่อติดตามความก้าวหน้า ส่วนวันนี้จะรอผลมติ ครม.ถึงเวลา 12.00 น. เท่านั้น" นายบรรจง กล่าว

ส่วนกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(P-move) ได้เคลื่อนขบวนมารอฟังความคืบหน้าผลการประชุม ครม.โดยได้มีการปิดประตูทำเนียบฝั่งเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ และได้ขึงผ้าสีส้มด้านหน้าทำเนียบประจานการทำงานรัฐบาลในการแก้ปัญหาไม่ได้ผลพร้อมล้อมปิดประตูด้านต่างๆ ทำให้มีทางเข้าออกด้านเดียวฝั่งประตูอรทัย

โดยนายสุพจน์ กาฬสงค์ แกนนำเครือข่ายฯ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาของพวกเราโดยเร็ว ไม่ใช่บ่ายเบี่ยงไปวันๆ และสะสางปัญหาที่หมักหมมให้เสร็จภายในระยะเวลาตามที่ตกลงไว้ เพื่อเป็นการพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล กลุ่มพีมูฟจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้ 1.เร่งนำกรณีปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้วทั้ง 4 เรื่อง เข้าสู่การพิจารณาในการประชุม ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบตามข้อตกลง 2.รัฐบาลต้องเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการเจรจา โดยกลุ่มพีมูฟจะยังคงปักหลักชุมนุมอย่างสงบต่อไป จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม จึงจะพิจารณาว่าจะมีการดำเนินการต่อไปในรูปแบบใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ