นายแบร์ลุสโคนี วัย 76 ปี ถูกศาลมิลานตัดสินจำคุกฐานซื้อประเวณีกับนางสาวการิมา เอล มารูห์ อดีตนักเต้นชาวโมรอคกันซึ่งยังถือว่าเป็นผู้เยาว์ หรือที่รู้จักกันในนาม "รูบี้ ฮาร์ทสตีลเลอร์" และใช้อำนาจเพื่อปกปิดความผิดเมื่อปี 2553
ในการพิจารณาคดีที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลา 2 ปี มีสาวนักเต้นเป็นจำนวนมากให้การว่า นางสาวการิมาถูกซื้อบริการเพื่อไปมีเพศสัมพันธ์ตามคฤหาสน์ของเจ้าพ่อสื่อและนายกฯ 3 สมัย
ก่อนหน้านี้ ขั้นตอนการอุทธรณ์มีอยู่ 2 ขั้น อย่างไรก็ตามศาลได้มีคำตัดสินนายเบอร์ลุสโคนีในขณะที่เขากำลังเผชิญข้อหาคอรัปชั่นและฉ้อโกงหลายคดี ซึ่งอาจหมายถึงจุดจบในชีวิตทางการเมืองของเขาที่ยาวนานมาถึงสองทศวรรษ
นายแบร์ลุสโคนี ที่ได้ยืนกรานความบริสุทธิ์ของตนเองมาโดยตลอด ออกแถลงการณ์ต่อต้านคำพิพากษาที่เขาเห็นว่ามีขึ้นเพื่อ "กำจัด" เขาออกจากตำแหน่งทางการเมือง และเขาให้คำมั่นว่าเขาจะ"ขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้อิตาลีเป็นประเทศที่มีแต่ความอิสระและความยุติธรรมที่แท้จริง"
จนเกิดข้อโต้แย้งตามมาเป็นอย่างมากจากฝ่ายผู้สนับสนุนนายแบร์ลุสโคนี โดยพวกเขายืนกรานว่านายแบร์ลุสโคนีเป็นเหยื่อของคณะผู้พิพากษาฝ่ายซ้าย นับตั้งแต่ที่เขาเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2537 และยังเป็นเหยื่อของฝ่ายต่อต้านที่ได้เรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง
แท้จริงแล้ว แม้ว่านายแบร์ลุสโคนีจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งใดๆในรัฐบาล แต่เขาก็ยังมีบทบาทอย่างมากอยู่เบื้องหลังของรัฐบาลผสมระหว่างฝ่ายซ้ายและขวาที่เปราะบาง ซึ่งนำโดยนายเอ็นริโก้ เล็ตต้า นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่ได้เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อเดือน เม.ย. หลังจากที่การเมืองหยุดชะงักไปหลายเดือน ต้องดำเนินงานโดยคำนึงถึงความคิดเห็นจากพรรคฝ่ายขวาอย่าง People of Freedom หรือ PdL
เมื่อวานนี้ บรรดาผู้นำจากทั้งสองฝ่ายได้ออกมาให้คำมั่นกับชาวอิตาเลียน ที่กำลังประสบอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยว่า รัฐบาลจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเหตุการณ์พิจารณาคดีของนายแบร์ลุสโคนี
อย่างไรก็ตาม เหล่าผู้สังเกตการณ์เห็นว่า คำพิพากษาจะส่งผลกระทบตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ต่ออนาคตของรัฐบาล
นายมาร์โก ทราวากลิโอ นักข่าวสืบสวนและผู้นำทางความคิดให้ความเห็นว่า "แทนที่ทุกๆคนจะเอาแต่ถามบรรดาผู้สนับสนุนนายแบร์ลุสโคนีเกี่ยวกับแนวโน้มที่รัฐบาลจะล่มสลาย พวกเขาควรไปถามนายเล็ตต้าและพรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายซ้ายว่าพวกเขาจะทำอย่างไรต่อไป"
นายมาริโอ้ เซชิ นักเขียนและคอลัมนิสต์ ชี้ว่าเขาไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะเอาตัวรอดไปได้ แต่ "เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่าจะต้องมีผลกระทบตามมา"
เขาเสริมว่า นายแบร์ลุสโคนีมีท่าที "ระมัดระวัง" แต่เขาอาจจะ "อาศัยคำพิพากษา" และเตรียม "ตอบโต้" เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลจะพ้นวาระการทำหน้าที่ 5 ปี
นายมัซซิโม กักซิอาริ นักรัฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ข่าว ได้เรียกร้องให้อิตาลีให้เริ่มต้นใหม่ และเขาเห็นว่านายแบร์ลุสโคนีสมควรถูกสั่งห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง "ด้วยกระบวนการเลือกตั้งแทนระบบศาลยุติธรรม"
เขากล่าวว่า "นับได้ 15 ปีแล้วในวงการการเมืองที่มีแต่ข่าวพิจารณาคดีของนายแบร์ลุสโคนี ถึงเวลาแล้วที่อิตาลีควรให้ความสนใจในประเด็นอื่นๆ และลืมเขาไปให้หมด" สำนักข่าวซินหัวรายงาน