"กิตติรัตน์"ยัน พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านมีความจำเป็น-กลไกกำกับดูแลโปร่งใส

ข่าวการเมือง Saturday September 21, 2013 10:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ระบุ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และ 3 เมื่อช่วงค่ำวานนี้ไม่ได้เป็นการขออนุมัติกู้เงินจำนวนดังกล่าวในคราวเดียวเพื่อมากองรอไว้ใช้ แต่เป็นการขออนุมัติกรอบการกู้เงิน โดยจะทยอยกู้ตามขั้นตอนของแต่ละโครงการ และไม่สามารถที่จะนำไปบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เพราะจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานด้านอื่น และการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องจะเป็นการส่งสัญญานที่ไม่ถูกต้อง

"เป็นโครงการระยะยาว 7 ปี หากใช้งบประมาณประจำปีจะทำให้กระทบกับงบบริหารงานด้านอื่นๆ และยังเป็นการแยกให้เห็นความชัดเจนในการลงทุนด้านต่างๆ ส่วนความเป็นไปได้ที่จะเปิดให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนนั้น หลายโครงการที่เตรียมเดินหน้ายังไม่เป็นที่สนใจของภาคเอกชน เนื่องจากไม่มีรายรับที่ชัดเจน แต่ในอนาคตหากมีโครงการที่สามารถให้ภาคเอกชนเข้าร่วมทุนได้ก็พร้อม" นายกิตติรัตน์ กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า กรอบการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 7 ปี เฉลี่ยปีละ 3 แสนล้านบาท สามารถระดมทุนจากในประเทศได้ทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งจะมีการใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีในกรอบไม่เกินร้อยละ 50 ของงบแต่ละโครงการ ซึ่งรัฐบาลมีเงินตราต่างประเทศมากพอที่จะลงทุน แต่การออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อระดมทุนจากต่างประเทศจะเป็นการดูแลเงินจำนวนดังกล่าวได้ดีกว่า และจะเป็นการสร้างความเชื่อมโยงกับตลาดทุนต่างประเทศ ซึ่งเบื้องต้นอาจออกพันธบัตรรัฐบาลในจำนวนหนึ่งในระยะเวลา 10 ปี

"มั่นใจว่าจะไม่กระทบกับวินัยทางการคลัง เนื่องจากกำหนดกรอบหนี้สาธารณะไม่ให้เกินร้อยละ 50 ของจีดีพีจากปกติร้อยละ 60 โดยร้อยละ 10 ที่เผื่อไว้เพื่อรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งการชำระหนี้อย่างช้าที่สุดจะเสร็จสิ้นภายใน 50 ปี แต่สามารถชำระได้เร็วขึ้น หากมีงบประมาณเพียงพอในการชำระเงินต้นในแต่ละปี โดยยืนยันว่าโครงการทั้งหมดจะทำให้ประเทศได้รับประโยชน์ทุกด้าน" นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ความโปร่งใสในการดำเนินโครงการนอกเหนือจากการประกาศเป็นกฎหมายเพื่อกำหนดราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ที่ชัดเจนแล้ว ยังมีองค์กรอิสระและฝ่ายอื่นๆ ตรวจสอบด้วย ทำให้มีความโปร่งใสแน่นอน และไม่หนักใจที่ฝ่ายค้านอาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เนื่องจากไม่มีเนื้อหาใดขัดรัฐธรรมนูญ แต่หากกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นอาจทำให้โครงการล่าช้าและเสียโอกาส

"เราสามารถใช้หนี้บาทสุดท้ายหมดสิ้น 50 ปี แต่ทรัพย์สินยังอยู่ครบ และเมื่อถึงวันนั้นทรัพย์สินที่เกิดจากการลงทุนคงจะมากกว่า 2 ล้านล้านบาทหลายเท่า ถ้าจะใช้หนี้หมดเร็วขึ้นก็เพิ่มการชำระเงินต้นอีกนิดเดียว" นายกิตติรัตน์ กล่าว

ช่วงกลางดึกวานนี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติ 287 ต่อ 105 เสียง เห็นชอบในวาระที่ 3 ผ่านร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท งดออกเสียง 11 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง โดยขั้นตอนต่อไปจะต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปยังวุฒิสภาเพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอน ก่อนที่ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะมีผลบังคับใช้ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ