นายกฯ แถลงผลงานรัฐบาลต่อรัฐสภา เน้นสร้างสมดุล ศก.-ปรองดอง-ก้าวสู่ AEC

ข่าวการเมือง Tuesday September 24, 2013 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงผลงาน 1 ปีของรัฐบาลต่อรัฐสภาในช่วงบ่ายวันนี้ว่า รัฐบาลยึดหลักการบริหารตามจุดมุ่งหมาย 3 ประการ คือ การสร้างเศรษฐกิจสมดุลเพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ, การสร้างบรรยากาศความเชื่อมั่นที่จะมุ่งไปสู่สังคมของการปรองดองบนหลักของความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน และ การเตรียมพร้อมการก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน

ทั้งนี้ รัฐบาลเข้ามาทำงานท่ามกลางบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาสังคมต่าง ๆ ตลอดจนปัญหาของอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 54 ขณะที่ความท้าท้ายในการบริหารประเทศปีแรกในด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจยังพึ่งพาการส่งออกอยู่ถึง 70% ขณะที่การเติบโตในประเทศต้องมีการพัฒนาในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในประเทศ จึงเป็นที่มาที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาว่าอยากเห็นการช่วยกันปรับปรุงพัฒนาให้เกิดความสมดุล และเสริมสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้แข็งแรง

ขณะที่การกระจายตัวของผู้ที่มีรายได้น้อยเทียบกับผู้ที่มีรายได้สูงยังมีช่องว่างที่ยังมากอยู่ หนี้นอกระบบเกิดขึ้นมากมาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ภาครัฐต้องพยายามช่วยกันแก้คือทำให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นต้นทุนถูก และลดค่าใช้จ่าย ส่วนความเหลื่อมล้ำทางสังคมยังมีทั้งทางด้านของโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค คมนาคม การศึกษา สาธารณสุข และสังคม ดังนั้นโจทย์ที่ท้าทายของรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนนั้นได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกันและลดความเหลื่อมล้ำ

นอกจากการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคหรือในระดับโลก เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ในขณะเดียวกันโอกาสในการเติบโตนั้นก็ก้าวเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคมีความเปลี่ยนแปลงที่พิถีพิถัน และซับซ้อน คำนึงถึงสุขภาพ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ

โครงสร้างความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่มีเทคโนโลยีต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย มีผลในเรื่องของภัยคุกคามใหม่ ๆ และมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการทำงานต่าง ๆ อีกทั้งมีผลกับบางอุตสาหกรรมที่จะต้องปรับตัวในเรื่องของเทคโนโลยี อย่างเช่น ทางด้านอุตสาหกรรมหลายคอมพิวเตอร์เป็นลักษณะพีซีตั้งโต๊ะ เปลี่ยนมาเป็นมือถือ แท็บเล็ต ไอแพด

ในด้านโครงสร้างประชากร หากดูในระยะยาว ประเทศจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ การเตรียมมิติต่าง ๆ ที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นฝีมือแรงงาน หรือฝึกแรงงาน หรือการดูแลผู้สูงอายุ วิธีการอย่างไรนั้นก็คงต้องมาสะท้อนในส่วนนี้ด้วย และสุดท้ายการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 58 คือการรวมตัวก้าวไปสู่ AEC

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า นอกจากความท้าทายด้านต่าง ๆ แล้ว ประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาภาวะอุทกภัยครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ รัฐบาลต้องจัดทำงบประมาณประจำปี 55 เพื่อช่วยเหลือเยียวยาไม่วาจะเป็นเรื่องของอุทกภัยต่อชีวิต ผู้คน ทรัพย์สินในส่วนราชการ โดยตัดงบประมาณปกติจากทุกกระทรวงลงพื้นมาเป็นงบ 1.2 แสนล้านบาท เงินในส่วนนี้มีเพียงประมาณ 8 หมื่นล้านบาทที่ใช้เพื่อการป้องกันอุทกภัยไว้ระดับหนึ่ง เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาในปีต่อ ๆ ไป

นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่ต้องการเห็นความชัดเจนว่ารัฐบาลจะดูแลปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจหรือการลงทุนอย่างไร รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจเพื่อป้องกันไม่ให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิต และได้มีการบูรณาการการแก้ไขข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เป็นเอกภาพ

ขณะเดียวกันด้วยความร่วมมือร่วมใจกันก็ทำให้รัฐบาลนี้สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ดูจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) ในปี 54 ขณะที่เกิดวิกฤตถดถอยลงไปประมาณ 0.8-0.9% และใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนในการฟื้นตัว ทำให้ภาพรวม GDP ในปี 55 มาอยู่ประมาณ 6% กว่า

ด้วยการที่ประเทศไทยต้องฟื้นฟูวิกฤตหลังเกิดปัญหาอุทกภัย เวลาของรัฐบาลที่ควรจะต้องแก้ปัญหานั้นก็เกิดต้องแก้ปัญหาในเรื่องของอุทกภัยไป ก็หายไปแล้วประมาณ 5- 6 เดือนแล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ก็ยังมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาในการสร้างความเชื่อมั่นและการเริ่มมีเรื่องของนโยบาย 16 ข้อที่ได้มีการแถลงไว้ต่อรัฐสภาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจให้มีความเข็มแข็ง และที่สำคัญพื้นฐานของความสงบและพื้นฐานของการแก้ปัญหาในประเทศก็เป็นพื้นฐานการเติบโตของเศรษฐกิจ

รัฐบาลนี้ร่วมกันในการที่จะสร้างบรรยากาศของการปรองดองและไม่ตอบโต้ รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ทางด้านอุทกภัย ภาวะอุทกภัยและภัยทางการเมืองด้วย

ในด้านต่างประเทศรัฐบาลได้เร่งการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มประเทศอาเซียนหรือพันธมิตรต่าง ๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยการเยือนหลายประเทศ เริ่มจากอาเซียนเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ และแก้ไขปัญหาในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ซึ่งวันนี้อัตราการเติบโตของการค้าระหว่างอาเซียนสูงขึ้น กลุ่มต่อไปก็ได้มีเยือนในกลุ่มประเทศมหาอำนาจ เพื่อที่กระชับความสัมพันธ์และรักษาฐานให้คงอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นฐานสำคัญและในการหารือที่จะเพิ่มจำนวนตัวเลขของการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนให้สูงขึ้น

พร้อมกันนั้นยังเปิดฐานใหม่ อย่างเช่น กลุ่มประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการสร้างความสัมพันธ์ และการให้ความช่วยเหลือ จากนั้นจึงจะเป็นการเปิดช่องทางการค้าระหว่างกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ