"ธีรยุทธ"หนุน กปปส.ปฏิวัติประชาชนช่วยให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ข่าวการเมือง Tuesday December 10, 2013 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย แสดงความคิดเห็นเรื่องอนาคตการเมืองไทยกับการปฏิวัติประชาชนว่า การที่มวลชนกว่า 2 ล้านคนออกมาเคลื่อนไหวแสดงพลังให้ฝ่ายรัฐเห็นนั้นเป็นการใช้สิทธิและการปฏิบัติหน้าที่อันจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการต่อต้านรัฐบาลที่ฉ้อฉล

โดยแนวทางประชาภิวัฒน์ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ที่ปฏิเสธการยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ของรัฐบาลมี 2 ทางเลือก คือ การกดดันให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองเพื่อใช้มาตรา 3 และมาตรา 7 แต่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยคงไม่ยินยอม กับอีกแนวทางที่ไม่เกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย คือการปฏิวัติของประชาชน การปฏิวัตินกหวีดซึ่งเป็นครั้งแรกของประชาชน

นายธีรยุทธ กล่าวว่า การปฏิวัติของประชาชนครั้งนี้จะทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีสิทธิเสรีภาพที่ดีขึ้นกว่าเก่า แต่การนำพาให้การปฏิวัติประชาชนสำเร็จ หรืออาจจะไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ อาทิ การรับรองจากประมุขของประเทศ การยอมรับจากกองทัพ ตำรวจ และข้าราชการ และการยอมรับของประชาชนทุกภาคส่วนและภาคเอกชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุด

ทั้งนี้ กปปส.ต้องตระหนักว่า การเร่งรัดให้คนกลุ่มอาชีพต่างๆ ยอมรับการตัดสินใจของ กปปส.นั้นเร็วเกินไป ทำให้เกิดอาการลังเล การให้เวลาครุ่นคิดตริตรองเป็นเรื่องสำคัญ ควรทำความเข้าใจกับประชาชน กระบวนการเกิดนโยบายหรือการจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นฉันทามติอย่างกว้างขวาง ต้องมีเจตจำนงการเมืองที่แน่วแน่ มีคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง มีแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจน เน้นการกระจายอำนาจไปสู่ส่วนภูมิภาค รวมทั้ง กปปส.ต้องมีความสามารถในการจูงใจโน้มน้าวแจงเหตุแจงผลให้กับประชาชนได้เข้าใจด้วย

"การมีแนวร่วมที่ประกอบด้วยบุคคลที่เสมือนเป็นทุนทางสังคม ทุนทางสัญลักษณ์ ทุนทางศรัทธา ความน่าเชื่อถือ ความสามารถและมีประสบการณ์ ซึ่ง กปปส.สามารถแสวงหาได้จากผู้ชุมนุม จากพรรคประชาธิปัตย์ จากภาคธุรกิจเอกชน 7 องค์กร บุคคลผู้อาวุโสในสังคม เทคโนแครต ซึ่งคนเหล้านี้อาจจะถูกเรียกว่า อภิชนนิยม เปิดทางให้ชนชั้นสูงเป็นใหญ่ เน้นให้การเลือกตั้งเป็นตัวตัดสินในทุกสถานการณ์ ก็เป็นแนวธนานิยม หรือให้อำนาจเงินเป็นใหญ่ได้ จึงต้องมีตัวแทนจากรากหญ้า ผู้นำปัญญาชนการเมืองท้องถิ่นในทุกจังหวัดด้วย" นายธีรยุทธ กล่าว

นายธีรยุทธ กล่าวว่า การต่อสู้ครั้งนี้อาจไม่บรรลุชัยชนะ แต่ที่สำคัญที่สุดคือได้เกิดประสบการณ์การใช้สิทธิอำนาจของประชาชน เป็นพลังที่แท้จริงของภาคประชาชน เป็นอำนาจที่สามารถต่อรองกับอำนาจการเมือง ถ้ารักษาพลังนี้ได้อาจได้แนวร่วมของขบวนการตรวจสอบภาคการเมืองต่อต้านคอร์รัปชั่นที่เข้มแข็งของประเทศในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ