ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตยหนุนแนวทางปฏิรูปประเทศก่อนมีการเลือกตั้ง

ข่าวการเมือง Monday December 16, 2013 10:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย สีลมสีเขียว ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 12 ผ่านเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า "ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย สีลมสีเขียว" โดยออกแถลงการณ์เรื่อง "ร่วมสนับสนุนการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง" โดยระบุว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะได้ผ่านการปฏิรูปทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังมีกระบวนการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสร้างความเสียหายให้กับประเทศ จนเป็นเหตุมวลมหาประชาชนได้ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองกันมากมายทั่วประเทศ

ชมรมนักธุรกิจ จึงขอแถลงจุดยืนสนับสนุนให้สังคมไทยได้นำปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศนั้น มาหาทางออกเป็นรูปธรรม โดยมีการปฏิรูปเพิ่มเติมในบางประเด็นดังต่อไปนี้

1.โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีการกระจายอำนาจโดยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และมีการแบ่งสรรงบประมาณให้เป็นอำนาจของจังหวัด ให้มีการกระจายอำนาจโดยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และมีการแบ่งสรรงบประมาณให้เป็นอำนาจของจังหวัด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการกระจายสิทธิ และกระจายอำนาจสำหรับจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยอาจกำหนดให้แต่ละจังหวัดมีอำนาจการจัดการงบประมาณจากส่วนหนึ่งของภาษีต่างๆ ที่เก็บได้ในจังหวัดนั้น และอีกส่วนจากบางส่วนของภาษีส่วนกลาง แบ่งสรรตามจำนวนประชากรในแต่ละจังหวัด

2. กระบวนการยุติธรรมและการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ไขการทำผิดกฎหมายแบบนอมินี การกระทำทุจริต และการทำผิดกฎหมายที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายกับประเทศชาติอย่างมากมายหลายกรณี โดยการใช้ตัวแทนหรือนอมินี (Nominee) ในการกระทำแทน เช่น การซุกหุ้น การบริหารราชการผ่านผู้นำหุ่นเชิด กระบวนการทุจริตจำนำข้าว การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพื่อครอบครัวผู้นำ เป็นต้น

3. ศาลสื่อมวลชน ในช่วงการเลือกตั้งการเผยแพร่ข้อมูลเท็จและความเท็จผ่านสื่อสารมวลชนที่ผ่านมา เป็นต้นเหตุของความแตกแยกในหมู่พี่น้องปวงชนชาวไทย เพราะความจริงย่อมมีหนึ่งเดียว แต่ความเท็จนั้นแล้วแต่จะแต่งขึ้น และเมื่อผ่านสื่อย่อมสร้างความแตกแยกในแผ่นดินเพียงคดีหมิ่นประมาท ไม่อาจเยียวยาความแตกแยกในสังคมได้ จึงควรมีกระบวนการเร่งวินิจฉัยให้โอกาสผู้เสียหายตอบโต้

3.1.หากศาลตัดสินว่า ข้อมูลที่นำเสนอเป็นความจริงอยู่แล้ว ก็ไม่มีโทษ

3.2.หากศาลตัดสินว่า ข้อมูลที่เสนอเป็นความเท็จ และทำให้เกิดความเสียหาย สื่อสารมวลชนนั้นจะต้องมีการนำข้อเท็จจริงกลับไปเผยแพร่เพื่อแก้ไขข้อมูลเท็จนั้นๆ ผ่านสื่อนั้นๆ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อความจริงที่ถูกต้อง หากสื่อมวลชนนั้นไม่ปฏิบัติ ก็ให้ยุติการออกอากาศหรือการเผยแพร่ของสื่อมวลชนนั้นต่อไป โดยทุกฝ่ายอาจยื่นต่อศาลได้ ทั้งจากพรรคการเมือง หน่วยงานราชการ หรือภาคประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเผยแพร่ของสื่อสารมวลชนนั้น

4. การเปิดเผยงบประมาณที่จะต้องใช้รองรับนโยบายต่างๆ เพื่อควบคุมกำกับไม่ให้พรรคการเมืองหาเสียงโดยไม่รับผิดชอบต่อการสร้างภาระหนี้ให้กับประชาชนและลูกหลาน พรรคการเมืองจะต้องนำเสนอภาระหนี้จากการขาดดุลงบประมาณจากโครงการต่างๆ รวมกัน และระบุในการหาเสียงด้วย โดยรัฐบาลจะไม่สามารถก่อหนี้ได้ เกินกว่าที่ได้เปิดเผยไว้ตอนหาเสียง เว้นแต่มีสถานการณ์พิเศษ ซึ่งเห็นชอบโดยรัฐสภา และไม่มีคำสั่งยับยั้งโดยศาลปกครอง

5. การหาเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะต้องแสดงความจริงใจในการบริหารงานผ่านรัฐสภา พรรคการเมืองจะต้องแสดงจุดยืนถึงการปฏิบัติหน้าที่ต่อรัฐสภา เช่น แนวทางการตอบกระทู้ของผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านแนวทางการออกกฎหมาย และการรับฟังความเห็นต่างในการออกกฎหมาย การรายงานผลการดำเนินงานต่อรัฐสภา เป็นต้น

6. การหาเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะต้องเสนอ "ผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี" ในระบอบประชาธิปไตย ในอารยประเทศทั่วโลก ผู้บริหารราชการแผ่นดิน เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและมีอำนาจระดับสูงสุดในการบริหารราชการ จะมีการแข่งขันวิสัยทัศน์ที่โปร่งใส เพื่อแสดงนโยบาย และตอบข้อซักถาม แต่ละพรรคการเมืองจึงควรส่งผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างโปร่งใส โดยอาจเลือกผู้จัดรายการจากแต่ละฝ่ายร่วมกันก็ได้ และเพื่อเป็นการได้ผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากพรรคการเมืองใดส่งผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยมีเสียงของผู้แทนในสภาผู้แทนต่ำกว่า 1 ใน 10 จะมีผลให้ตำแหน่ง ส.ส.ของพรรคนั้นเป็นโมฆะ

7. แก้ปัญหา พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ อันเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งในสังคมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ จะต้องมีการทำให้ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ นี้ไม่สามารถกลับมาสร้างปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในสังคมได้อีก เช่น รัฐบาลยอมรับความจริงว่า ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมนี้ จะมีผลในการจัดสรรหรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน อันเข้าข่ายเป็น พ.ร.บ.การเงิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 143(2) ซึ่งนายกฯ จะต้องรับรองและให้นายกฯ ลงนามไม่รับรอง เพื่อให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ตกไปเสียก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่

"หากครอบครัวชินวัตรยังไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลว่าผิดจริง คดีทุจริตจนถูกยึดทรัพย์ และมีเจตนาเรียกร้องความเป็นธรรม ขอให้แสดงหลักฐานและเหตุผลโต้แย้งต่อคำพิพากษาซึ่งได้รวมถึงคำให้การที่ครอบครัวชินวัตรได้เคยให้ต่อศาลไว้แล้ว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อครอบครัวและยุติความขัดแย้งในสังคม"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ