ศาล ปค.ให้ทำประชาพิจารณาโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนลบ.,ไม่ยกเลิกแผน

ข่าวการเมือง Thursday January 9, 2014 14:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าว แจ้งว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีค้านโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรก โดยนัดให้คู่กรณีแถลงด้วยวาจาต่อองค์คณะตุลาการ คดีนี้นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน เพื่อขอให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง หรือเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลงวันที่ 30 กันยายน 2556 หรือกำหนดมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาเป็นที่สุด

นายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล เลขานุการคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) แถลงว่า รัฐบาลได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำ ทั้งพื้นที่สร้างเขื่อน และสร้างฟลัดเวย์ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ควบคู่การการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(EHIA) โดยนำเสนอข้อมูลให้ประชาชนรับทราบว่าหากดำเนินการแล้วจะเกิดผลกระทบกับประชาชนอย่างไร และทางเลือกอื่นในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหากไม่ก่อสร้างเขื่อน

สำหรับการดำเนินโครงการแบบดีไซน์บิวด์ (Design build)เป็นข้อดี เนื่องจากสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินโครงการ ให้เหมาะสมกับความต้องการของประชาชน และสภาพแวดล้อม หลังได้ศึกษาผลกระทบแล้ว ยืนยันไม่เกิดค่าโง่ เนื่องจากมีการดำเนินการแบบ garantee maximum price ด้วย

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น คณะตุลาการผู้แถลงคดี พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่รับคำร้องขอให้เพิกถอนการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ จึงยกฟ้องนายกรัฐมนตรีกับพวก เนื่องจากเห็นว่าแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลเป็นนโยบายบริหารของรัฐบาล ไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครอง จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองในการรับพิจารณา

แต่เห็นว่าผู้ถูกฟ้องที่ 4 คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) ละเลยต่อหน้าที่ ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรค 1 แต่ในส่วนของรับฟังรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 เห็นว่ายังไม่ถึงขั้นตอนที่ดำเนินการ และผู้ถูกฟ้องคดีได้กำหนดขั้นตอนในการที่จะดำเนินการไว้แล้ว ยังไม่ถือว่าละเลยต่อการปฎิบัติหน้าที่ จึงขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องนำแผนบริหารจัดการน้ำทั้ง 9 โมดูลไปจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลังจากนี้ศาลจะนัดประชุมเพื่อพิจารณาก่อนนัดคู่กรณีรับฟังอีกครั้ง

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีเป็นไปตามที่ต่องการ คือ ให้ กบอ.นำโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ทั้งโมดูลที่ 1-6 และบี 1-5 ไปทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2548 ส่วนคำพิพากษาจะตรงตามความคิดเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีหรือไม่นั้น เร็วๆ นี้คาดว่าจะได้รู้ และเมื่อมีคำพิพากษาออกมาจะสร้างบรรทัดฐานของกฎหมาย ให้การปฏิบัติเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรค 2 และมาตรา 67 วรรค 2

ทั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลต้องกลับไปดูแลข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน โดยต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นทั้งโครงการ ก่อนที่จะไปลงนามทำสัญญาใดๆ แต่ศาลเห็นว่าการทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมาเป็นการดำเนินการหลังจากศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาไปแล้ว และถือว่าเป็นอำนาจของรัฐบาล จึงไม่รับประเด็นนี้มาพิจารณาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ให้เพิกถอนแผนแม่บท

บริเวณด้านหน้าศาลปกครองสูงสุดวันนี้ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโครงการบริหารจัดการน้ำได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุติดำเนินโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการโดย กบอ.เพราะไม่ได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพประชาชน และความเป็นไปได้ ทำให้เกิดความแตกแยกของประชาชนในหลายพื้นที่ อาทิ โครงการสร้างฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ต่างๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ