"เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา"แถลงค้านรัฐประหาร-ความรุนแรง/หนุนเลือกตั้ง-ปฏิรูป

ข่าวการเมือง Friday January 10, 2014 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา" ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของ 10 องค์กร และบุคคลต่างๆ อีก 69 คน ร่วมกันออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนและข้อคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ในภาวะวิกฤติ 4 ข้อ โดยหวังให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย

"เราไม่เอารัฐประหารและความรุนแรง แต่เอาเลือกตั้งและปฏิรูปประเทศ"นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

แถลงการณ์ฯ ระบุว่า ท่ามกลางภาวะวิกฤติการเมืองที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่ความรุนแรงระหว่างกลุ่มต่างๆ และการรัฐประหาร รวมทั้งทำลายโอกาสการปฏิรูปประเทศบนวิถีทางประชาธิปไตย พวกเรา "เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา" จึงมีจุดยืนและข้อคิดเห็นต่อประชาชนทุกฝ่าย ดังนี้

1.คัดค้านการรัฐประหาร ซึ่งเป็นความพยายามแก้ไขวิกฤติการเมืองด้วยวิถีทางนอกระบบ การรัฐประหารไม่สามารถยุติความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มการเมือง และประชาชนฝ่ายต่างๆ ได้ และจะเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงระหว่างผู้ก่อรัฐประหารกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองและโศกนาฏกรรมที่มิอาจเยียวยา

2.คัดค้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะมาจากประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเจ้าหน้าที่รัฐ เราขอยืนยันว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และจัดกิจกรรมทางการเมืองโดยสันติ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ที่ไม่ควรถูกคุกคามด้วยความรุนแรง และบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว นอกจากนี้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อรักษากฎหมายและความสงบสุขของสังคมจะต้องเป็นไปตามหลักสากล ไม่กระทำเกินกว่าเหตุและระมัดระวังอย่างถึงที่สุด ไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชน

3.เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งเป็นสิทธิการเมืองของประชาชนทุกคนที่ไม่มีใครหรือกลุ่มใดสามารถที่จะละเมิดได้ และต้องดำเนินการไปตามกรอบรัฐธรรมนูญและวิถีทางประชาธิปไตย ทั้งนี้ ควรทำให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ

4.สนับสนุนการปฏิรูปวิถีทางประชาธิปไตย ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที ควบคู่ไปกับการเลือกตั้ง การปฏิรูปโดยมอบอำนาจให้กับคนบางกลุ่ม ไม่สามารถเป็นหลักประกันว่าจะทำให้ระบบการเมืองตอบสนองต่อประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างแท้จริง การปฏิรูปจะต้องอยู่บนวิถีทางประชาธิปไตย เช่น ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา การทำประชามติ รวมถึงการติดตาม ตรวจสอบ กดดัน รัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยภาคประชาสังคม เป็นต้น

เครือข่ายฯ เสนอให้ทุกพรรคการเมืองแสดงเจตจำนงและให้สัญญาประชาคมที่จะให้เกิดการผลักดันการปฏิรูปอย่างจริงจัง โดยไม่กีดกันคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เคารพในความแตกต่าง ความหลากหลาย สร้างกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีกลไกตรวจสอบติดตาม เพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างฝ่ายการเมืองกับประชาชน และลดเงื่อนไขที่จะนำสังคมไปสู่ภาวะเผด็จการเสียงข้างมาก และเผด็จการเสียงข้างน้อย

เครือข่ายฯ จะดำเนินการจัดเวทีพลเมืองปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสร้างบทสนทนาที่ประชาชนมีส่วนร่วมต่อไป และเชื่อมั่นว่า สังคมไทยจะก้าวข้ามออกจากวิกฤติในครั้งนี้ได้ โดยไม่ต้องนองเลือด หากประชาชนและกลุ่มการเมืองทุกฝ่ายเคารพ และยอมรับกติกาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ตระหนักว่าเราต้องอยู่ร่วมกันท่ามกลางความเห็นต่าง เพราะทุกคนมีความเสมอภาคกันในฐานะเจ้าของประเทศ และมีสิทธิเท่าเทียมในการร่วมกันปฏิรูปสังคมไทย

"เราคิดว่าสังคมไทยยังมีความหวัง แต่จะสำเร็จหรือไม่ เราไม่รู้" นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงความมุ่งหวังของเครอข่ายที่จะคลี่คลายวิกฤติการณ์ทางการเมืองในขณะนี้

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เป็นห่วงความรุนแรงในเชิงกายภาพ ดังนั้นทุกฝ่ายความช่วยกันหาวิธีป้องกันไม่ให้เข้าไปสู่กับดักของความีรุนแรงเหมือนในอดีต สำหรับการปฏิรูปนั้นต้องเริ่มดำเนินการในทันทีไม่ต้องรอเวลา


แท็ก รัฐประหาร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ