เลือกตั้ง'57: อดีตกกต.คาดข้อขัดแย้งวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต้องส่งศาลรธน.

ข่าวการเมือง Monday February 3, 2014 13:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มองว่า การเลือกตั้ง 67 เขตที่มีปัญหาไม่สามารถเปิดให้ลงคะแนนได้เมื่อวานนี้นั้น กกต.สามารถจัดให้มีการหย่อนบัตรใหม่ภายใน 180 วันนับจากวันที่ 2 ก.พ.57 ตามมาตรา 78 ซึ่งอาจจะกำหนดเป็นวันที่ 23 ก.พ.ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่กำหนดให้จัดการเลือกตั้งล่วงหน้าใหม่ก็ได้ หรือจะกำหนดเป็นวันอื่นก็แล้วแต่ กกต.จะพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม

ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดคำว่าใช้ดุลยพินิจในการจัดการลงคะแนนใหม่ จริงๆแล้วเหตุที่งดการลงคะแนนต้องเป็นไปตามที่บัญญัติ เช่น อุทกภัย มีเหตุจลาจล และกรณีเหตุจำเป็น ซึ่งจะต้องดูว่าเหตุจำเป็นนั้นเกิดจากอะไร เช่น ในกรณีกรรมการประจำหน่วยไม่มา พิมพ์บัตรเลือกตั้งไม่ทัน มีการขัดขวางการเลือกตั้งที่หน่วย รวมทั้งต้องพิจารณาว่าเหตุเหล่านั้นอยู่นานขนาดไหน แม้ว่าโดยหลักการไม่สามารถกำหนดได้ตามใจชอบ แต้ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจว่าสถานการณ์การเลือกตั้งในเวลานั้นไ เหมาะสมหรือไม่ หากยังมีมวลชนคัดค้านอยู่ ควรจะรอสถานการณ์คลี่คลายลงไปสักเล็กน้อยได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 93 บัญญัติไว้ต้องพยายามทำให้มีส.ส.ให้ได้ครบภายใน 180 วันหลัง 2 ก.พ. แต่ถ้าครบ 180 วันหรือ 6 เดือนนับจากนี้ยังไม่จบก็น่าจะถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความ

สำหรับ 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า ควรจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเฉพาะ 28 เขตนี้ ซึ่ง กกต.และรัฐบาลต้องหารือกัน ต้องตีความข้อกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ความเห็นด้านหนึ่งมองว่า กกต.ก็ประกาศรับสมัครใหม่และกำหนดวันลงคะแนนสำหรับ 28 เขตนี้ไปเลยเพราะมีอำนาจจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่จะเป็นปัญหาการตีความถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็อาจจะเป็นข้อขัดแย้ง ยกเว้น กกต.ตัดสินใจจะทำเองเพราะรัฐบาลไม่ออกพระราชกฤษฎีกา ซึ่งถ้า กกต.ทำเอง อาจจะเจอปัญหา เพราะในประเทศไทยมีคนจ้องล้มการเลือกตั้งทั่วไปทุกครั้ง

"เรื่องของ 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัคร เชื่อว่ารัฐบาลคงจะหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกออกพระราชกฤษฎีกาได้ก็จบ แต่ถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกไม่ได้ กกต.ก็ไม่กล้าประกาศรับสมัครใหม่ไม่กล้ากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ"นายประพันธ์ กล่าว

ส่วน 16 เขตที่มีผู้สมัครรายเดียว ซึ่งต้องรอการนับคะแนนทั้งหมดจึงจะประกาศผลได้ ถ้าขาดไปเพียงหน่วยเดียวก็ประกาศรับรองผลไม่ได้ ถ้ามีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดแล้วคะแนนนั้นยังไม่มาก็ประกาศรับรองไม่ได้ ซึ่งก็ไม่สามารถนำมากำหนดจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้

นายประพันธ์ กล่าวถึงการเลือกตั้งเมื่อวานนี้ (2 ก.พ.) ว่าจะเป็นโมฆะหรือไม่ ต้องอยู่ที่การตีความ เพราะคนที่บอกว่าโมฆะอ้างเหตุผลว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร อ้างว่ากำหนดวันลงคะแนน 23 ก.พ.สำหรับคนที่ไม่สามารถไปลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ในวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา และ ก็มี 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัครถ้าจะมีการลงคะแนนในวันอื่นก็ไม่ใช่ 2 ก.พ.

"แต่ส่วนตัวผมเห็นว่าวันเลือกตั้งมีวันเดียว คือ 2 ก.พ.เพราะเป็นวันที่กำหนดอายุสภาผู้แทนราษฎรที่จะนับ 4 ปีนับจากวันนี้ วันอื่นเป็นเพียงแค่วันลงคะแนนเท่านั้น แต่มันก็มีปัญหาตรงที่ 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัครทำให้ต้องมีการจัดเลือกตั้งกันใหม่ มันอยู่ที่การตีความ ซึ่งก็ต้องดูตามเหตุตามผล"นายประพันธ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ