นักวิชาการชี้การเมืองหลังเลือกตั้งก้าวสู่สูญญากาศ เสียหายยิ่งกว่าปฏิวัติ

ข่าวการเมือง Monday February 3, 2014 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เผยสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ ซึ่งหากหาทางออกให้ประเทศไม่ได้จะส่งผลกระทบให้การพัฒนาล้าหลังยิ่งกว่าเกิดการรัฐประหาร
"คาดเดาไม่ได้ ลักษณะคล้ายจะเป็นสูญญากาศ เพราะทำอะไรต่อไปไม่ได้ ประชุมสภาไม่ได้ ตั้งรัฐบาลไม่ได้" นายอัษฎางค์ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

เมื่อการเลือกตั้งยังไม่สามารถหาจำนวน ส.ส.ได้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ อย่างน้อย 95% ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน ทำให้ไม่สามารถเดินหน้ากระบวนการรัฐสภาต่อไปได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 ที่มีเวลา 6 เดือนในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ครบตามจำนวนดังกล่าว

"กกต.ต้องดำเนินการให้ได้ มันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบ อย่าไปตั้งแง่...มันมีอะไรลึกลับจนรัฐบาลไม่กล้าทำอะไร"นายอัษฎางค์ กล่าว

นายอัษฎางค์ กล่าวว่า ในระหว่างที่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ รัฐบาลรักษาการควรที่จะดำเนินการในเรื่องที่จะสร้างความสุขให้กับประชาชน เช่น ผลักดันการปฏิรูปประเทศตามคำเรียกร้องของสังคม การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน

ส่วนปัญหาเรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ที่จะล่าช้าออกไปเนื่องจากยังไม่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการนั้น นายอัษฎางค์ กล่าวว่า แม้ว่าการใช้จ่ายงบประจำมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้แล้ว แต่ในส่วนที่เป็นงบลงทุนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงส่งผลให้การพัฒนาประเทศล้าหลังกว่าจะกลับมาฟื้นตัวตามเดิมต้องใช้เวลานับ 10 ปี

"สถานการณ์ทางการเมืองในลักษณะนี้ทำให้ประเทศพิการไปชั่วคราว ความเสียหายที่เกิดขึ้นรุนแรงยิ่งกว่าเกิดการรัฐประหาร มันหาทางออกไม่เจอ" นายอัษฎางค์ กล่าว

นายอัษฎางค์ กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ค่อนข้างคลุมเครือ และถือเป็นประวัติศาสตร์โลกที่เรีกกร้องหาเผด็จการ เป็นจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงที่แปลกแตกต่างไปจากต่างประเทศ ซึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ที่มีอำนาจแท้จริง เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อย่างนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดสงครามกลางเมือง เกิดเหตุรุนแรงกว่าที่เคยเกิดขึ้นบริเวณแยกหลักสี่เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ