ศาลอนุญาตฝากขัง"สนธิญาณ"คดีกบฏแต่ให้ประกันตัว 4 แสน-ห้ามยุยงปลุกปั่น

ข่าวการเมือง Saturday February 15, 2014 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตฝากขังครั้งแรก นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม หนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีกบฏ, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 215, 216, 234 ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 43, 76 และ 152 เป็นเวลา 12 วัน แต่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยประกันตัวด้วยวงเงิน 4 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามปลุกปั่นยุยงก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

เมื่อเวลา 11.00 น. พ.ต.ท.ชลภัทร ปานสกุณ พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขังครั้งแรกนายสนธิญาณต่อศาลอาญาเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 15-26 ก.พ.นี้ โดยพนักงานสอบสวนให้เหตุผลว่า เนื่องจากต้องสอบพยานบุคคลอีก 120 ปาก และรอผลการตรวจประวัติการต้องโทษ พร้อมคัดค้านประกันตัวด้วย เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงสุดให้ประหารชีวิต เป็นความผิดร้ายแรง และหากปล่อยตัวไปเกรงว่าผู้ต้องหาจะก่อเหตุอันตรายอื่นๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุดการกระทำดังกล่าว รวมทั้งอาจจะหลบหนีได้

โดยคำร้องฝากขังระบุว่า ผู้ต้องหาเป็นกรรมการ กปปส.ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ให้กระทำการผิดกฎหมาย เช่น การปิดล้อมกรมโยธาธิการและผังเมือง. การปิดล้อมศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง และสถานีตำรวจดินแดง เพื่อขัดขวางการสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และการปิดล้อมสำนักงานเขตดุสิตและเขตราชเทวีจนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค.ได้ และประชาชนที่จะไปใช้สิทธิก็ไม่สามารถเข้าไปใช้สิทธิได้

ขณะที่นายวิโรจน์ ภูมิศิริสวัสดิ์ ทนายความของนายสนธิญาณ กล่าวว่า ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง พร้อมนำสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ มูลค่า 500,000 บาท ยื่นขอประกันตัวด้วย พร้อมระบุเหตุผล 3 ข้อ คือ 1.พฤติการณ์การชุมนุมนั้น ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยแล้วสามารถกระทำได้และเป็นการชุมนุมสงบ 2.เมื่อพฤติการณ์การชุมนุมเป็นไปเพื่อเรียกร้องรัฐบาลลาออกโดยไม่ได้สร้างเหตุรุนแรงใดๆ ดังนั้นการตั้งข้อกล่าวหาว่ากบฏจึงรุนแรงเกินไป และ 3.การฝากขังนั้นกระทำโดยมิชอบ เนื่องจากไม่ได้เป็นการจับกุมตามขั้นตอนที่จะมีเวลาควบคุมผู้ต้องหา 48 ชั่วโมง แต่การฝากขังนี้สืบเนื่องจากการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ คือ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่จะครบกำหนด 7 วันในปลายสัปดาห์ อีกทั้งการตั้งข้อกล่าวหานี้ดีเอสไอเคยร้องขอศาลอนุมัติหมายจับ แต่ศาลยกคำร้องโดยให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกก่อน ซึ่งจะถึงกำหนดวันเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 22 ก.พ.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ