โพลแนะ"รัฐบาล-กปปส."ถอยคนละก้าว-เห็นแก่ส่วนรวมแก้ความขัดแย้งฝังรากลึก

ข่าวการเมือง Sunday February 16, 2014 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี "เจาะลึก" ความขัดแย้งของบ้านเมือง ณ วันนี้ จำนวนทั้งสิ้น 1,383 คน ระหว่างวันที่ 11 - 15 กุมภาพันธ์ 2557 สรุปผลได้ ดังนี้

เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าความขัดแย้งในบ้านเมืองที่มีอยู่ ณ วันนี้ เป็นความขัดแย้งธรรมดาหรือไม่ธรรมดา อันดับ 1 ไม่ธรรมดา 83.91% เพราะ เป็นความขัดแย้งของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่ฝังรากลึกและยืดเยื้อมานาน เป็นการแบ่งขั้วอย่างชัดเจน มีความแตกต่างทางด้านความคิด ต่างฝ่ายต่างต้องการอำนาจในการบริหารประเทศ มีการสูญเสียเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ฯลฯ

อันดับ 2 ขัดแย้งธรรมดา 16.09% เพราะ ที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีปัญหาทางการเมืองเกิดขึ้นบ่อยครั้ง การเมืองไทยยังคงดำเนินต่อไปได้ และสถานการณ์ต่างๆ ก็ยังสามารถควบคุมได้ ในบางประเทศก็ประสบปัญหาแบบนี้เหมือนกัน ฯลฯ

เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่า "สาเหตุ" ที่ทำให้ความขัดแย้งมีอยู่ยาวนาน คือ อันดับ 1 ความเห็นและมุมมองที่แตกต่างกัน มีอคติ ถือทิฐิ 33.17% อันดับ 2 อำนาจและผลประโยชน์ ความเห็นแก่ตัว 31.66% อันดับ 3 ขาดความสามัคคี ไม่มีคุณธรรมจริยธรรม 19.10%

อันดับ 4 การไม่เคารพกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมไม่เข้มแข็ง 16.07%

เมื่อถามถีง "ผลเสีย" จากความขัดแย้งในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจน คือ อันดับ 1 เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนต้องหยุดชะงัก 41.10% อันดับ 2 บ้านเมืองวุ่นวาย ไม่สงบสุข ประชาชนได้รับความเดือดร้อน กระทบต่อชีวิตประจำวัน 26.03% อันดับ 3 ประเทศไม่พัฒนา ขาดเสถียรภาพ ภาพลักษณ์เสียหาย 18.26% อันดับ 4 คนในสังคมแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน ทะเลาะกันมากขึ้น 14.61%

เมื่อถามถึง "วิธีแก้ความขัดแย้ง" ที่เป็นรูปธรรม คือ อันดับ 1 รัฐบาล และ กปปส.ควรถอยคนละก้าว เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ 44.59% อันดับ 2 ทุกฝ่ายต้องหยุดพฤติกรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้กับบ้านเมือง และหันมาสมัครสมานสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าและน่าอยู่ต่อไป 29.28% อันดับ 3 หาตัวแทนหรือคนกลางเข้ามาเจรจา ไกล่เกลี่ย พูดคุยกันด้วยเหตุผล รับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน 17.56% อันดับ 4 ทุกคนต้องเคารพกฎหมายและปฏิบัติตามกฎ กติกาของสังคม หากผู้ใดฝ่าฝืน หรือกระทำผิดต้องได้รับการลงโทษ 8.57%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ