นายกฯ ขานรับเจรจา"สุเทพ"แต่ต้องอยู่ในกรอบ รธน.-แนะให้ผู้รู้เข้าร่วม

ข่าวการเมือง Thursday February 27, 2014 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ประกาศท้าให้เจรจาโดยมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ว่า เห็นด้วยกับหลักการในการพูดคุย และหลักการเจรจาโดยสันติ แต่ก่อนที่จะมีการเจรจาจะต้องมีกรอบออกมาก่อนในระดับหนึ่ง ถ้าเราไม่มีกรอบเลย พูดเท่าไรก็ไม่จบ แต่ถ้ามีกรอบออกมาในระดับหนึ่งและมีใจซึ่งเป็นเป้าหมายที่ตรงกันมาหาวิธีการว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ทุกอย่างก็จะเดินไปได้ แต่ถ้าต่างคนต่างวางตัวเป็นเส้นคู่ขนานคุยอย่างไรก็ไม่เกิดประโยชน์

"ถ้ามีกรอบ ที่ตรงกัน การพูดคุยกันก็สามารถเป็นไปได้ แต่ถ้ากรอบที่ต่างคนต่างไม่ตรงกัน ก็เป็นสิ่งที่ยากในการที่จะพูดคุย"น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว พร้อมทั้งตั้งคำถามกลับไปที่นายสุเทพว่า พร้อมที่จะเจรจาภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ จะยุติชุมนุมเพื่อให้การเลือกตั้งสามารถดำเนินไปตามระบอบและกรอบของประชาธิปไตยหรือไม่

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่สำคัญสิ่งที่ทุกคนต้องการคือการยุติการชุมนุม และอยากให้การเลือกตั้งสามารถดำเนินต่อไป ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่สามารถตอบคำถามจากนานาประเทศได้ว่าเราจะรักษาระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ถือเป็นหลักใหญ่ที่ต้องยึด ส่วนรูปแบบการเจรจาจะเป็นอย่างไรคงยังตอบไม่ได้ เพราะไม่มีสูตรสำเร็จ แต่สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องค่อยๆพูดกันไป เพราะอาจมีความต่างกันในหลายประเด็น แต่บางประเด็นที่สามารถคุยกันได้ก็ควรมีการตีกรอบให้แคบลง

"ในส่วนของดิฉันเองก็ต้องมีคนอื่นเข้ามาช่วยเหลือว่าจะมีมุมมองในการแก้ไขปัญหาอย่างไร จึงไม่ได้หมายความว่าเราจะปิดกรอบทั้งหมด เพียงแต่ ต้องมีผู้ที่รู้เข้ามาช่วย ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถชี้แจงได้ ที่สำคัญสิ่งที่ทุกคนต้องการคือการยุติการชุมนุม และอยากให้การเลือกตั้งสามารถดำเนินต่อไป ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่สามารถตอบคำถามจากนานาประเทศได้ว่าเราจะรักษาระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ถือเป็นหลักใหญ่ที่เราต้องยึด ซึ่งดิฉันเห็นด้วยกับหลักการในการพูดคุย และหลักการเจรจาโดยสันติ" นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่าโดยหลักของการเจรจาจะต้องมีการถ่ายทอดสดหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงต้องเรียนว่าตนเพียงคนเดียวคงตอบไม่ได้ควรจะมีการพูดคุยกันหลายๆคนน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าเพราะว่าต้องมีผู้รู้เข้ามาร่วมด้วย เนื่องจากตนเองไม่สามารถจะตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศได้ เพราะมีทั้งเรื่องกฎกติกาและรายละเอียดต่างๆ

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) จะเชิญตัวแทนองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น)มาเป็นคนกลางในการพูดคุยและให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาว่า ทางยูเอ็นก็มีแนวทางการศึกษาจากหลายๆประเทศ การรับฟังในเรื่องของมุมมองและการแลกเปลี่ยนจากหลายๆประเทศนั้นถือเป็นสิ่งที่ดีไม่ควรจะปิดกั้น แต่สุดท้ายแล้วเราเองก็ต้องมาพูดคุยกันภายในประเทศ

"เราไม่มีคำว่าแพ้ชนะ เรามีแต่คำว่าเราจะทำอย่างไรให้สามารถประคองประเทศและสถานการณ์เดินไปได้ สิ่งที่ถือเป็นชัยชนะคือประชาชนและประเทศต่างหากที่เราอยากเห็น ไม่อยากจะพูดว่าฝ่ายหนึ่งแพ้ฝ่ายหนึ่งชนะ ถ้าเรามีทิฐิต่อกัน ก็ไม่มีทางที่จะทำให้เส้นทางที่เป็นคู่ขนานมาบรรจบกันได้"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ